• หน้าแรก
  • อุปมาแก่นไม้กับแก่นธรรม
  • พระพุทธรูปยุคต่างๆ
  • เสียงธรรมคีตะ
  • สมุดเยี่ยม
  • ติดต่อเรา
ทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ทุกวัน
บุพกรรมของพระพุทธเจ้า
            กรรมคือการกระทำ ทั้งฝ่ายกุศล(ดี)และอกุศล(ไม่ดี) เมื่อบุคคลทำแล้ว ย่อมส่งผลให้กับผู้ที่กระทำกรรม
นั้น ๆตามเหตุปัจจัยไม่ช้าก็เร็ว บุคคลนั้นจะต้องได้รับผลอย่างแน่นอน เพื่อเป็นการรับรองว่า ผลของกรรมนั้นมีจริง และเป็นการเตือนสติเราท่านทั้งหลาย ให้ตระหนักในการกระทำของตนมากยิ่งขึ้น จะได้เลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้า ก็ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมเหมือนกัน ดังเรื่องบุพกรรมของพระพุทธเจ้า ต่อไปนี้

บุพกรรม(กรรมเก่า)ของพระพุทธเจ้า
            พระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาเอกของโลก แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เป็นอันมากประทับนั่งอยู่ที่พื้นหินอันโชติช่วงด้วยแก้วต่างๆ ในป่าอันมีกลิ่นหอม ใกล้สระอโนดาต ตรัสชี้แจงบุพกรรมทั้งหลาย ของพระองค์ ณ ที่นั้นว่า
บุพกรรมฝ่ายกุศล
การถวายผ้าเก่า
            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังกรรมที่เราทำแล้ว เราเห็นภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรรูปหนึ่งแล้ว
ได้ถวายผ้าเก่า   เราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก
ในกาลนั้น ผลแห่งกรรม คือการถวายผ้าเก่า ย่อมอำนวยผล ให้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เพราะเหตุที่เมื่อบุคคลปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่จะสำเร็จได้  ก็ด้วยธรรม ๘  ประการ คือ ๑. ความเป็นมนุษย์  ๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ต้องเป็นเพศบุรุษ)    ๓. ความถึงพร้อมด้วยเหตุ (มีอุปนิสสัยบรรลุมรรคผลได้)  ๔. การได้เห็นพระศาสดา (พบพระพุทธเจ้าขณะที่มีพระชนม์อยู่  ๕. การได้บรรพชา(ได้บวชเป็นดาบสหรือภิกษุอยู่) ๖. ความสมบูรณ์ด้วยคุณ (ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕) ๗. การกระทำอันยิ่งใหญ่ (สละชีวิตแก่พระพุทธเจ้าได้)   ๘. ความเป็นผู้มีฉันทะ (พอใจ อุตสาหะ บำเพ็ญพุทธการกธรรม)
พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรม  อธิษฐานข้อวัตรให้ยิ่งยวดขึ้นไป  เพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศให้บริบูรณ์  ตราบจนมาถึงอัตภาพที่ เป็นพระเวสสันดร  อันเป็นพระชาติสุดท้ายของการบำเพ็ญบารมีอัน ยิ่งใหญ่ทำให้มหาปฐพีแม้ไม่มีจิตก็ยังไหวถึง ๗ ครั้ง   และจุติจาก พระเวสสันดร บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
บุพกรรมที่ได้ถอนหญ้าและอื่นๆลานพระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า
             พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เรื่องเคยมีมาแล้วได้มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า  สังขะ  ในเมืองตักกสิลา มาณพชื่อว่า สุสิมะ  ที่เป็นบุตรของพราหมณ์นั้น มีอายุราว  ๑๖  ปี 
วันหนึ่งได้เข้าไปหาบิดา  ไหว้แล้วยืนอยู่  ณ  ส่วนข้างหนึ่ง.  บิดาพูดกับบุตรนั้นว่า  พ่อสุสิมะ  .  บุตรนั้นพูดว่า  คุณพ่อครับ  ผมต้องการจะไปศึกษาศิลปะวิชาที่เมืองพาราณสี. บิดาพูดว่า  "ลูกสุสิมะ  ถ้าอย่างนั้น  (เจ้าจงไปเถิด)  เพื่อนของพ่อเป็นพราหมณ์ชื่อโน้น  เจ้าไปยังสำนักของพราหมณ์นั้นแล้วจงเรียนวิชาเถิด"ดังนี้  แล้วมอบทรัพย์ให้พันกหาปณะ  สุสิมะมาณพนั้นรับทรัพย์  ๑  พันกหาปณะนั้นแล้ว  ไหว้อำลามารดาบิดา  ไปสู่เมืองพาราณสีโดยลำดับ  เข้าไปหาอาจารย์ด้วยวิธีประกอบด้วยมรรยาทเรียบร้อย  ไหว้แล้ว  แนะนำตน  อาจารย์ทราบว่าเด็กหนุ่มนี้เป็นบุตรเพื่อนของเรา  จึงรับมาณพ  (นั้น)  แล้วได้กระทำการต้อนรับทุกอย่าง
มาณพนั้นบรรเทาความเมื่อยล้าจากการเดินทางไกล  (พักผ่อน)  แล้วได้มอบทรัพย์  ๑  พันกหาปณะนั้นไว้ที่ใกล้เท้าอาจารย์  ขอโอกาสเรียนศิลปวิทยา  อาจารย์ให้โอกาสแล้วก็ให้ศึกษา  มาณพนั้นเรียนได้ไวด้วย  เรียนได้มากด้วยและจดจำสิ่งที่เรียนไว้แล้ว ๆ ไม่ลืม  เหมือนน้ำมันที่ใส่ไว้ในภาชนะทองฉะนั้นได้เรียนศิลปวิทยา ซึ่งคนทั่วไปใช้เวลาเรียน ๑๒ ปี(โดยใช้เวลาเรียน)เพียง  ๒-๓  เดือนเท่านั้น  เขาเมื่อจะกระทำการสาธยาย  ย่อมเห็นเบื้องต้น  และท่ามกลางของศิลปะนั้นได้  แต่ไม่เห็นที่สุด. 
ครั้งนั้นเขาจึงเข้าไปหาอาจารย์แล้วเรียนว่า  กระผมย่อมเห็นเบื้องต้นและท่ามกลางเท่านั้นของศิลปะนั้น  แต่ไม่เห็นที่สุด.  อาจารย์กล่าวว่า  ดูก่อนพ่อ  แม้เราเองก็ไม่เห็นเหมือนกัน.มาณพจึงเรียนถามว่า  ข้าแต่ท่านอาจารย์  เมื่อเป็นเช่นนั้น  ใครเล่าย่อมทราบที่สุดแห่งศิลปะนี้ได้.  อาจารย์ตอบว่า  ดูก่อนพ่อ  ที่ป่าอิสิปตนะมีฤาษีทั้งหลายอยู่  ฤาษีเหล่านั้นพึงทราบได้.  มาณพกล่าวว่า  ท่านอาจารย์กระผมเข้าไปหาฤาษีเหล่านั้นแล้วจักไต่ถาม. 
อาจารย์ตอบว่า  เจ้าจงถามตามสบายเถิดพ่อ.มาณพนั้นไปยังป่าอิสิปตนะ  เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วเรียนถามว่า  ท่านทั้งหลายทราบเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด (ของศิลปะ) หรือ. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตอบว่า  ดูก่อนอาวุโส ใช่แล้ว พวกเราทราบ.มาณพเรียนว่า  ท่านทั้งหลายจะให้กระผมศึกษาบ้างได้ไหม 
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตอบว่า  อาวุโส  ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงบวช  (เสียก่อน)  ด้วยว่าผู้ที่ไม่บวชไม่อาจศึกษาได้. 
มาณพเรียนว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ดีละ  ท่านทั้งหลายจงให้กระผมบวช  ท่านทั้งหลายกระทำสิ่งที่ท่านทั้งหลายปรารถนาแล้วจงให้กระผมทราบที่สุดแห่งศิลปะเถิด.
พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้มาณพนั้นบวชแล้ว  ก็ไม่สามารถที่จะสั่งสอน  ในกัมมัฏฐานได้  พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น  ให้ศึกษาอภิสมาจาริกวัตร  โดยนัยเป็นต้นว่า  ท่านพึงนุ่งอย่างนี้  ท่านพึงห่มอย่างนี้ ก็สุสิมะนั้นศึกษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนะนั้น  ได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณโดยไม่นานเลย  เพราะ(ความที่ตน)  สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย  ท่านจึงได้ปรากฏในเมืองพาราณสีทั้งสิ้นว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าสุสิมะเกิดขึ้นแล้ว ท่านถึงความเลิศด้วยลาภ  เลิศด้วยยศ  มีบริวารพรั่งพร้อม  พระปัจเจกพุทธเจ้าสุสิมะนั้น  ไม่นานเลยก็ปรินิพพาน เพราะท่านได้ทำกรรมที่เป็นเหตุให้มีอายุน้อยไว้. 
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายและหมู่มหาชนกระทำซึ่งสรีรกิจของพระปัจเจกพุทธเจ้าสุสิมะนั้น  ถือเอาแล้วซึ่งพระธาตุทั้งหลายให้ประดิษฐานไว้ในพระสถูปที่ประตูพระนคร.
ครั้งนั้นแล  สังขพราหมณ์คิดว่า  บุตรของเราไปนานแล้ว  และเราก็ไม่ทราบความเป็นไปของบุตรนั้น  ดังนี้.  ต้องการที่จะพบบุตร  จึงออกจากเมืองตักกสิลา  ไปถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ  เห็นหมู่มหาชนประชุมกันอยู่จึงดำริว่า ในบรรดาหมู่ชนเป็นอันมาก  คงจะมีใครสักคนหนึ่งทราบความเป็นไปแห่งบุตรของเราบ้างเป็นแน่  ดังนี้แล้ว  จึงเข้าไปในที่นั้นถามว่า  เด็กหนุ่มชื่อว่าสุสิมะมาในที่นี้มีอยู่  พวกท่านทราบความเป็นไปของเขาบ้างแหละหรือ มหาชนตอบว่า  ใช่แล้วพราหมณ์  เราทั้งหลายทราบอยู่  สุสิมะมาณพเป็นผู้จบไตรเพทในสำนักของพราหมณ์ในนครนี้.  บวชในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย  แล้วสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วด้วย     อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  สถูปองค์นี้  มหาชนให้สร้างประดิษฐานไว้เพื่อสุสิมะปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
สังขพราหมณ์นั้นใช้มือทุบแผ่นดินร้องไห้คร่ำครวญ  ไปยังลานเจดีย์นั้น ถอนหญ้าทั้งหลายขึ้นแล้ว ใช้ผ้าห่ม (ห่อ) ขนทรายมา  แล้วเกลี่ยลงที่ลานพระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ประพรมด้วยน้ำ  จากคณโฑ  (ลักจั่น) กระทำบูชาด้วยดอกไม้ป่าทั้งหลาย  ใช้ผ้าห่มยกทำเป็นธงปฏากขึ้น  ผูกร่มของตนไว้เบื้องบนสถูป  แล้วหลีกไป.
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำอดีตนิทานมาอย่างนี้แล้วเมื่อทรงสืบต่ออนุสนธิชาดกนั้น  ให้เชื่อมกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน  จึงตรัสธรรมกถาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า 
ภิกษุทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายไม่พึงเห็นข้อนั้นอย่างนี้ว่า  คนอื่นจะพึงมีได้แล  สังขพราหมณ์ได้มีแล้วในสมัยนั้นแน่แท้  เราเองได้เป็นสังขพราหมณ์โดยสมัยนั้น  เราได้ถอนหญ้าที่ลานพระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุสิมะ  ด้วยผลที่ไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น  ชนทั้งหลายได้กระทำหนทางประมาณ  ๘  โยชน์  ให้ปราศจากตอและหนาม  แล้วกระทำพื้นที่ให้เสมอสะอาด  เราได้เกลี่ยทรายลงที่ลานพระเจดีย์นั้น  ด้วยผลที่ไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น  ชนทั้งหลายได้เกลี่ยทรายในหนทางประมาณ  ๘  โยชน์  เราได้ทำการบูชาด้วยดอกไม้ป่าที่พระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น  ด้วยผลที่ไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น  ชนทั้งหลายได้ทำการลาดดอกไม้  ด้วยดอกไม้นานาชนิดทั้งบนบกและในน้ำในหนทางประมาณ  ๘  โยชน์  เราได้ทำการประพรมภาคพื้นด้วยน้ำที่ลานพระเจดีย์นั้น  ด้วยน้ำในคณโฑ  ด้วยผลอันไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น  ฝนโบกขรพรรษจึงตกลงในเมืองเวสาลี  เราได้ยกธงปฏากและผูกฉัตรไว้ที่เจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น  ด้วยผลอันไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น  มนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้ยกธงปฏากและยกฉัตรซ้อนฉัตรขึ้นจนถึงอกนิษฐภพ  ภิกษุทั้งหลาย  การบูชาพิเศษเพื่อเรานี้  มิได้บังเกิดขึ้นด้วยพุทธานุภาพ  มิได้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งนาค  เทพ  และพรหม  แต่ได้บังเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคอันมีประมาณน้อย  (ของเรา)  ดังกล่าวมานี้แล.  นี้เป็นบุพกรรมอันยิ่งใหญ่ในฝ่ายกุศล
บุพกรรมฝ่ายอกุศล.
๑. การทำทุกรกิริยา    ๒. การกล่าวโทษ    ๓. การด่าว่า    ๔. การกล่าวหา    ๕. การถูกศิลากระทบ    ๖.   การเสวยเวทนาจากสะเก็ดหิน   ๗. การปล่อยช้างนาฬาคิรี    ๘. การถูกผ่าตัดด้วยศาสตรา    ๙. การปวดศีรษะ ๑๐.การกินข้าวแดง    ๑๑. ความเจ็บปวดสาหัสที่กลางหลัง   ๑๒. การลงโลหิต   ๑๓. บุพกรรมที่ทำให้กระหายน้ำ
๑. บุพกรรมที่ทำให้ทำทุกรกิริยา
บุพกรรมที่ต้องทำทุกรกิริยาอยู่ถึง  ๖  พรรษา คือ  ในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพราหมณ์มาณพชื่อว่า โชติปาละ  โดยที่เป็นวรรณพราหมณ์จึงไม่เลื่อมใสในพระศาสนา  เพราะวิบากของกรรมเก่าแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เขาได้ฟังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ  จึงกล่าวว่า  การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ที่ไหน  การตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง  เพราะวิบากของกรรมนั้น  พระโพธิสัตว์นั้นจึงได้เสวยทุกข์มีนรกเป็นต้นหลายร้อยชาติ  ก็ในกาลนั้น  เราได้เป็นพราหมณ์ชื่อ  โชติปาละ  ได้กล่าวกะพระกัสสปสุคตเจ้าว่า  การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ไหน  การตรัสรู้เป็นของได้ยากยิ่ง เพราะวิบากของ กรรมนั้น  เราจึงต้องทำทุกรกิริยามากมายอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาถึง  ๖  ปี  จากนั้น  จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ เราไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณอันสูงสุดโดยหนทางนั้น  เราถูกกรรมเก่าห้ามไว้  จึงได้แสวงหาโดยทางผิด  
๒. บุพกรรมที่ทำให้ให้ถูกกล่าวตู่ (และด่า)
ได้ยินว่า  ในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์เกิดในวรรณศูทร  เป็นนักเลงชื่อ  มุนาฬิ  ผู้ไม่มีชื่อเสียง  ไม่มีความชำนาญอะไร  ครั้งนั้น   พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า  สุรภิ  มีฤทธิ์มาก  มีอานุภาพมากไปถึงที่ใกล้ของเขาด้วยกิจบางอย่าง.  เขาพอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเท่านั้น ได้ด่าว่าด้วยคำเป็นต้นว่า  สมณะนี้ทุศีล  มีธรรมลามก.  เพราะวิบากของอกุศลนั้น  เขาจึงได้เสวยทุกข์ในนรกเป็นต้น  หลายพันปี  ในอัตภาพครั้งสุดท้ายนี้  ในตอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในภพดุสิต  พวกเดียรถีย์ปรากฏขึ้นก่อน  เที่ยวแสดงทิฏฐิ  ๖๒  หลอกลวงประชาชนอยู่นั้น  หลังจากจุติจากดุสิตบุรี  บังเกิดในสกุลศักยราช  แล้วได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยลำดับ.
พวกเดียรถีย์เสื่อมลาภสักการะ  เสมือนหิ่งห้อยในตอนพระอาทิตย์ขึ้น  จึงผูกความอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้าเที่ยวไปอยู่.  สมัยนั้น เศรษฐีในกรุงราชคฤห์ผูกตาข่ายในแม่น้ำคงคาแล้วเล่นอยู่  เห็นปุ่มไม้จันทน์แดงจึงคิดว่า  ในเรือนของเรามีไม้จันทน์มากมาย  จะให้เอาปุ่มไม้จันทน์แดงนี้เข้าเครื่องกลึง  แล้วให้ช่างกลึงกลึงบาตรด้วยปุ่มไม้จันทน์แดงนั้น  แล้วแขวนที่ไม้ไผ่ต่อ ๆ ลำกัน  ให้ตีกลองป่าวร้องว่า  ผู้ใดมาถือเอาบาตรใบนี้ได้ด้วยฤทธิ์  เราจักเป็นผู้จงรักภักดีต่อผู้นั้น.ในกาลนั้น พวกเดียรถีย์ปรึกษากันว่า  บัดนี้ พวกเราฉิบหายแล้ว  บัดนี้พวกเราฉิบหายแล้ว  นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวกะบริษัทของตนอย่างนี้  เราจะไปใกล้ ๆ ไม้ไผ่  ทำอาการดังว่าจะเหาะขึ้นในอากาศ  พวกท่านจงจับบ่าเราแล้วห้ามว่า  ท่านอย่ากระทำฤทธิ์เพราะอาศัยบาตรที่ทำด้วยไม้เผาผีเลย  เดียรถีย์เหล่านั้นพากันไปอย่างนั้น  แล้วได้กระทำเหมือนอย่างนั้น.
ครั้งนั้น  พระปิณโฑลภารทวาชะ  และพระโมคคัลลานะ  ยืนอยู่บนยอดภูเขาหินประมาณ  ๓ คาวุต  กำลังห่มจีวรเพื่อต้องการจะรับบิณฑบาตได้ยินเสียงโกลาหลนั้น. บรรดาพระเถระทั้งสองนั้น  พระโมคคัลลานะได้กล่าวกะพระปิณโฑลภารทวาชะว่า  ท่านจงเหาะไปเอาบาตรนั้น.  พระปิณโฑลภารทวาชะนั้นกล่าวว่า 
ท่านผู้เจริญ  ท่านเท่านั้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเลิศของท่านผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย  ท่านนั่นแหละจงถือเอา.  แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น  ท่านถูกพระโมคคัลลานะบังคับว่า  ท่านนั่นแหละผมสั่งแล้ว  จงถือเอาเถิด  จึงทำภูเขาหินประมาณ ๓  คาวุต  ที่ตนยืนอยู่  ให้ติดที่พื้นเท้าแล้วให้ปกคลุมนครราชคฤห์เสียทั้งสิ้น  เหมือนฝาปิดหม้อข้าวฉะนั้น.  ครั้งนั้น  ชนชาวพระนครแลเห็นพระเถระนั้น  ดุจด้ายแดงที่ร้อยในภูเขาแก้วผลึก  พากันตะโกนว่า  ท่านภารทวาชะผู้เจริญ  ขอท่านจงคุ้มครองพวกกระผมด้วย  ต่างก็กลัว  จึงได้เอากระด้งเป็นต้น กั้นไว้เหนือศีรษะ.  ทีนั้น  พระเถระได้ปล่อยภูเขานั้นลงไว้ในที่ที่ตั้งอยู่แล้วไปด้วยฤทธิ์ถือเอาบาตรนั้นมา.  ครั้งนั้น  ชนชาวพระนครได้กระทำความโกลาหลดังขึ้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ในพระเวฬุนาราม  ได้ทรงสดับเสียงนั้น  จึงตรัสถามพระอานนท์ว่า  นั้นเสียงอะไร ?  พระอานนท์กราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เพราะพระภารทวาชะถือเอาบาตรมาได้  ชนชาวพระนครจึงยินดีได้กระทำเสียงโห่ร้อง.  ครั้งนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้า  เพื่อที่จะทรงปลดเปลื้องการกล่าวร้ายผู้อื่นต่อไป  จึงทรงให้นำบาตรนั้นมาทุบให้แตก  แล้วทำการบดให้ละเอียดสำหรับเป็นยาหยอดตาแล้วทรงให้แก่ภิกษุทั้งหลาย  ก็แหละครั้นทรงให้แล้ว  จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุไม่ควรทำการแสดงฤทธิ์  ภิกษุใดทำ ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ.ลำดับนั้น  เดียรถีย์ทั้งหลายกล่าวกันว่า  ข่าวว่าพระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย  สาวกเหล่านั้นย่อมไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่บัญญัติไว้นั้น   แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต  พวกเราจักทำอิทธิปาฏิหาริย์  จึงพากันเป็นหมวดหมู่ทำความโกลาหลอยู่ในที่นั้น ๆ.  ครั้งนั้น  พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับดังนั้น  จึงเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงไหว้แล้วประทับนั่ง  ณ  ส่วนสุดข้างหนึ่ง  กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกเดียรถีย์ป่าวร้องว่า จักทำอิทธิปาฏิหาริย์.พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  มหาบพิตร  แม้อาตมภาพก็จักทำ.
พระราชาตรัสถามว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายไว้แล้วมิใช่หรือ  พระเจ้าข้า.พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  มหาบพิตร  อาตมภาพจักถามเฉพาะพระองค์เท่านั้น  พระองค์ทรงปรับสินไหมสำหรับผู้กินผลมะม่วงเป็นต้นในอุทยานของพระองค์ว่า  สินไหมมีประมาณเท่านี้  แม้สำหรับพระองค์ก็ทรงถูกปรับสินไหมด้วยหรือ.พระราชาทูลว่า  ไม่มีสินไหมสำหรับข้าพระองค์  พระเจ้าข้า.พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  อย่างนั้น  มหาบพิตร   สิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้ว  ย่อมไม่มีสำหรับอาตมภาพ.พระราชาตรัสถามว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ปาฏิหาริย์จักมีที่ไหนพระเจ้าข้า.พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ที่โคนต้นคัณฑามพพฤกษ์  ใกล้เมืองสาวัตถี  มหาบพิตร.พระราชาตรัสว่า  ดีละ  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ทั้งหลายจักคอยดูปาฏิหาริย์นั้น.
ลำดับนั้น  พวกเดียรถีย์ได้ฟังว่า  นัยว่าปาฏิหาริย์จักมีที่โคนต้นคัณฑามพพฤกษ์  จึงให้ตัดต้นมะม่วงรอบ ๆ พระนคร.  ชาวพระนครทั้งหลาย  จึงพากันผูกมัดเตียงซ้อน ๆ กัน และหอคอยเป็นต้น ในสถานที่อันเป็นลานใหญ่  ชาวชมพูทวีปเป็นกลุ่ม ๆ ได้ยืนแผ่ขยายไปตลอด๑๒  โยชน์  เฉพาะในทิศตะวันออก  แม้ในทิศที่เหลือ  ก็ประชุมกันอยู่โดยอาการอันสมควรแก่สถานที่นั้น.
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า  เมื่อกาลเวลาถึงเข้าแล้ว  ในวันเพ็ญเดือน ๘ ทรงทำกิจที่ควรทำให้เสร็จแต่เช้าตรู่  แล้วเสด็จไปยังที่นั้นประทับนั่งอยู่แล้ว.  ขณะนั้น  นายคนเฝ้าอุทยานชื่อว่าคัณฑะ  เห็นมะม่วงสุกดีในรังมดแดง  จึงคิดว่า  ถ้าเราจะถวายมะม่วงนี้แก่พระราชา  ก็จะได้ทรัพย์อันเป็นสาระมีกหาปณะเป็นต้น  แต่เมื่อน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าสมบัติในโลกนี้และโลกหน้าก็จักเกิดมี  ครั้นคิดดังนี้แล้วจึงน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับมะม่วงนั้นแล้ว  ดำรัสสั่งพระอานนทเถระว่า  เธอจงคั้นผลมะม่วงนี้ทำให้เป็นน้ำปานะ.  พระเถระได้กระทำตามพระดำรัสแล้ว.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดื่ม (น้ำ)  ผลมะม่วงแล้ว  ประทานเมล็ดมะม่วงแก่นายคนเฝ้าอุทยานแล้วตรัสว่า  จงเพาะเมล็ดมะม่วงนี้.  นายอุทยานบาลนั้นจึงคุ้ยทรายแล้วเพาะเมล็ดมะม่วงนั้น  พระอานนทเถระเอาคนโทตักน้ำรด.  ขณะนั้น  หน่อมะม่วงก็งอกขึ้นมา  เมื่อมหาชนเห็นอยู่นั่นแหละ  ก็ปรากฏเต็มไปด้วยกิ่ง  ค่าคบ  ดอก  ผล  และใบอ่อน.  ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นเคี้ยวกินผลมะม่วงที่หล่นลงมา  ไม่อาจให้หมดสิ้นได้.ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนิรมิตรัตนจงกรมบนยอดเขามหาเมรุในจักรวาลนี้  จากจักรวาลทิศตะวันออกจนกระทั่งถึงจักรวาลทิศตะวันตก  เมื่อจะทรงยังบริษัทมิใช่น้อยให้บันลือสีหนาท  จึงทรงกระทำมหาอิทธิปาฏิหาริย์  โดยนัยดังกล่าวแล้วในอรรถกถาธรรมบท  ทรงย่ำยีพวกเดียรถีย์ทำให้พวกเขาถึงประการอันผิดแผกไปต่าง ๆ ในเวลา
 เสร็จปาฏิหาริย์  ได้เสด็จไปยังภพดาวดึงส์  โดยพุทธจริยาที่พระพุทธเจ้าในปางก่อนทรงประพฤติมาแล้ว  ทรงจำพรรษาอยู่ในภพดาวดึงส์นั้น  ทรงแสดงพระอภิธรรมติดต่อกันตลอดไตรมาส  ทรงทำเทวดามิใช่น้อยมีพระมารดาเป็นประธาน  ให้บรรลุพระโสดาปัตติมรรค  ออกพระพรรษาแล้วเสด็จลงจากเทวโลก  อันหมู่เทวดาและพรหมมิใช่น้อยห้อมล้อม  เสด็จลงยังประตูเมืองสังกัสสะ  ได้ทรงกระทำการอนุเคราะห์ชาวโลกแล้ว.  ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีลาภสักการะท่วมท้นท่ามกลางชมพูทวีป  ประดุจ แม่น้ำใหญ่  ๕  สาย  (คือ  คงคา  อจิรวดี ยมุนา  สรภู  มหี)  ฉะนั้น.
ครั้งนั้น  พวกเดียรถีย์เสื่อมลาภสักการะ  เป็นทุกข์เสียใจ  คอตกนั่งก้มหน้าอยู่.  ในกาลนั้น  อุบาสิกาของพวกเดียรถีย์เหล่านั้น  ชื่อนางจิญจมาณวิกา  ถึงความเป็นผู้เลอเลิศด้วยรูปโฉม  เห็นพวกเดียรถีย์เหล่านั้นนั่งอยู่อย่างนั้น  จึงถามว่า  ท่านผู้เจริญ  เพราะเหตุไร  ท่านทั้งหลายจึงนั่งเป็นทุกข์  เสียใจอยู่อย่างนี้ ?  พวกเดียรถีย์กล่าวว่า  น้องหญิง  ก็เพราะเหตุไรเล่า  เธอจึงได้เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย.  นางจิญจมาณวิกาถามว่ามีเหตุอะไร  ท่านผู้เจริญ.  เดียรถีย์กล่าวว่า  ดูก่อนน้องหญิง  จำเดิมแต่กาลที่พระสมณโคดมเกิดขึ้นมา  พวกเราเสื่อมลาภสักการะหมด  ชาวพระนครไม่สำคัญอะไร ๆ พวกเรา.  นางจิญจมาณวิกาถามว่า  ในเรื่องนี้  ดิฉันควรจะทำอะไร.  เดียรถีย์ตอบว่า  เธอควรจะยังโทษมิใช่คุณให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม.  นางจิญจมาณวิกานั้นกล่าวว่า 
ข้อนั้น  ไม่เป็นการหนักใจสำหรับดิฉันดังนี้แล้ว  เมื่อจะทำความอุตสาหะในการนั้น  จึงไปยังพระเชตวันวิหารในเวลาวิกาล  แล้วอยู่ในสำนักของพวกเดียรถีย์ 
ครั้นตอนเช้า  ในเวลาที่ชนชาวพระนครถือของหอมเป็นต้นไปเพื่อจะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า  จึงออกมา  ทำทีเหมือนออกจากพระเชตวันวิหาร  ถูกถามว่า    นอนที่ไหน  จึงกล่าวว่า  ประโยชน์อะไรด้วยที่ที่เรานอนแก่พวกท่าน  ดังนี้แล้วก็หลีกไปเสีย.  เมื่อกาลเวลาดำเนินไปโดยลำดับ  นางถูกถามแล้วกล่าวว่า 
เรานอนในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดมแล้วออกมาพวกปุถุชนผู้เขลาเชื่อดังนั้น  บัณฑิตทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้นไม่เชื่อ.วันหนึ่ง  นางผูกท่อนไม้กลมไว้ที่ท้องแล้วนุ่งผ้าแดงทับไว้  แล้วไปกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้ประทับนั่งเพื่อทรงแสดงธรรมแก่บริษัทพร้อมทั้งพระราชาอย่างนี้ว่า 
พระสมณะผู้เจริญ  ท่าน (มัวแต่)  แสดงธรรม  ไม่จัดแจงกระเทียมและพริกเป็นต้น  เพื่อเราผู้มีครรภ์ทารกที่เกิดเพราะอาศัยท่าน.  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ดูก่อนน้องหญิง  ท่านกับเราเท่านั้นย่อมรู้ภาวะอันจริงแท้. 
นางจิญจมาณวิกากล่าวว่า  อย่างนั้นทีเดียว  เรากับท่าน  ๒  คนเท่านั้น  ย่อมรู้คราวที่เกี่ยวข้องด้วยเมถุน  คนอื่นย่อมไม่รู้.ขณะนั้น  บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะแสดงอาการเร่าร้อน.ท้าวสักกะทรงรำพึงอยู่  ทรงรู้เหตุนั้น  จึงตรัสสั่งเทวบุตร  ๒  องค์ว่า    บรรดาท่านทั้งสอง  องค์หนึ่งนิรมิตเพศเป็นหนูกัดเครื่องผูกท่อนไม้กลมของนางให้ขาด  องค์หนึ่งทำมณฑลของลมให้ตั้งขึ้น  พัดผ้าที่นางห่มให้เวิกขึ้นเบื้องบน.  เทวบุตรทั้งสองนั้นได้ไปกระทำอย่างนั้นแล้ว.  ท่อนไม้กลมตกลง  ทำลายหลังเท้าของนางแตก. 
ปุถุชนทั้งหลายผู้ประชุมกันอยู่ในโรงธรรมสภา  ทั้งหมดพากันกล่าวว่า  เฮ้ย !  นางโจรร้าย  เจ้าได้ทำการกล่าวหาความเห็นปานนี้  แก่พระผู้เป็นเจ้าของโลกทั้ง  ๓  ผู้เห็นปานนี้  แล้วต่างลุกขึ้นเอากำปั้นประหารคนละที  นำออกไปจากที่ประชุม  เมื่อนางล่วงพ้นไปจากทัสสนะคือการเห็นของพระผู้มีพระภาคเจ้า  แผ่นดินได้ให้ช่อง. 
ขณะนั้น  เปลวไฟจากอเวจีนรกตั้งขึ้น  หุ้มห่อนางเหมือนหุ้มด้วยผ้ากัมพลแดงที่ตระกูลให้  แล้วซัดลงไปในอเวจีนรก.  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีลาภสักการะอย่างล้นเหลือ  ด้วยเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าพระพุทธเจ้าผู้ทรงครอบงำสิ่งทั้งปวง  มีสาวกชื่อว่านันทะ เรากล่าวตู่พระสาวกชื่อว่านันทะนั้น  จึงได้ท่องเที่ยวไปในนรก  สิ้นกาลนาน.เราท่องเที่ยวไปในนรกตลอดกาลนานถึงหมื่นปี  ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว  ได้รับการกล่าวตู่มากมาย.เพราะกรรมที่เหลือนั้น  นางจิญจมาณวิกาได้กล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริงต่อหน้าหมู่ชน.๓. บุพกรรมที่ถูกกล่าวตู่ (และด่าอีกครั้ง)
ได้ยินว่า  ในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดที่ไม่ปรากฏชื่อเสียง  เป็นนักเลงชื่อว่า มุนาฬิ  เพราะกำลังแรงที่คลุกคลีกับคนชั่วจึงได้ด่าพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า สุรภิ ว่า  ภิกษุนี้ทุศีล มีธรรมอันลามก.
เพราะวจีกรรมอันเป็นอกุศลนั้น  พระโพธิสัตว์นั้นไหม้อยู่ในนรกหลายพันปี  ในอัตภาพครั้งสุดท้ายนี้  เกิดเป็นพระพุทธเจ้า  ด้วยกำลังแห่งความสำเร็จบารมี  ๑๐  ได้เป็นผู้ถึงลาภอันเลิศและยศอันเลิศ.  พวกเดียรถีย์กลับเกิดความอุตสาหะขึ้นอีก  คิดกันว่า  พวกเราจักยังโทษมิใช่ยศ  ให้เกิดแก่พระสมณโคดมได้อย่างไรหนอ  พากันนั่งเป็นทุกข์เสียใจ. ครั้งนั้น ปริพาชิกาผู้หนึ่งชื่อว่า สุนทรี  เข้าไปหาเดียรถีย์เหล่านั้นไหว้แล้วยืนอยู่  เห็นเดียรถีย์ทั้งหลายพากันนิ่งไม่พูดอะไร  จึงถามว่า  ดิฉันมีโทษอะไรหรือ ?  พวกเดียรถีย์กล่าวว่า
พวกเราถูกพระสมณโคดมเบียดเบียนอยู่  ท่านกลับมีความขวนขวายน้อยอยู่  ข้อนี้เป็นโทษของท่าน.
นางสุนทรีกล่าวว่า  เมื่อเป็นอย่างนั้น  ดิฉันจักกระทำอย่างไรในข้อนั้น.เดียรถีย์ทั้งหลายกล่าวว่า  ท่านจักอาจหรือที่จะทำโทษมิใช่คุณให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม.  นางสุนทรีกล่าวว่า  จักอาจซิ  พระผู้เป็นเจ้า 
ครั้นกล่าวแล้ว  จำเดิมแต่นั้นมา  ก็กล่าวแก่พวกคนที่ได้พบเห็นว่า  ตนนอนในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดมแล้วจึงออกมา  ดังนี้  โดยนัยดังกล่าวมาแล้วด่าบริภาษอยู่  ฝ่ายพวกเดียรถีย์ก็ด่าบริภาษอยู่ว่า  ผู้เจริญทั้งหลาย  จงเห็นกรรมของพระสมณโคดม.  สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ในชาติอื่น ๆ ในครั้งก่อน  เราเป็นนักเลงชื่อว่ามุนาฬิ  ได้กล่าวตู่พระสุรภิปัจเจกพุทธเจ้าผู้ไม่ประทุษร้าย.เพราะวิบากของกรรมนั้น  เราจึงท่องเที่ยวไปในนรกสิ้นกาลนาน  เสวยทุกขเวทนาหลายพันปี.ด้วยเศษกรรมที่เหลือนั้น  ในภพสุดท้ายนี้  เราจึงได้รับการกล่าวตู่  เพราะเหตุแห่งนางสุนทรี.
๔. บุพกรรมที่ถูกกล่าวตู่ (และด่าอีกครั้ง)
ในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์  เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนมาก  คนเป็นอันมากสักการบูชา  ได้บวชเป็นดาบส  มีรากเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร  สอนมนต์พวกมาณพจำนวนมาก  สำเร็จการอยู่ในป่าหิมพานต์.  ดาบสรูปหนึ่งได้อภิญญา  ๕  และสมาบัติ  ๘  ได้มายังสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น.   พระโพธิสัตว์นั้นพอเห็นพระดาบสนั้นเท่านั้น  ถูกความริษยาครอบงำ  ได้ด่าว่าพระฤาษีผู้ไม่ประทุษร้ายนั้นว่าฤาษีนี้หลอกลวง  บริโภคกาม  และบอกกะพวกศิษย์ของตนว่า  ฤาษีนี้เป็นผู้ไม่มีอาจาระเห็นปานนี้.  ฝ่ายศิษย์เหล่านั้นก็พากันด่า  บริภาษอย่างนั้นเหมือนกัน.  ด้วยวิบากของอกุศลกรรมนั้น   พระโพธิสัตว์นั้นจึงได้เสวยทุกข์ในนรกอยู่พันปี  ในอัตภาพหลังสุดนี้  ได้เป็นพระพุทธเจ้า  ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศ  ปรากฏดุจพระจันทร์เพ็ญในอากาศฉะนั้น.แม้ด้วยการด่าว่าถึงอย่างนั้น  พวกเดียรถีย์ก็ยังไม่พอใจ  ให้นางสุนทรีทำการด่าว่าอีก  ให้เรียกพวกนักเลงสุรามาให้ค่าจ้างแล้วสั่งว่า  พวกท่านจงฆ่านางสุนทรีแล้วปิดด้วยขยะดอกไม้ในที่ใกล้ประตูพระเชตวัน  พวกนักเลงสุราเหล่านั้นได้กระทำอย่างนั้น  แต่นั้น  พวกเดียรถีย์จึงกราบทูลแก่พระราชาว่า  ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่พบเห็นนางสุนทรี.  พระราชารับสั่งว่า  พวกท่านจงค้นดู  เดียรถีย์เหล่านั้นจึงเอามาจากที่ที่ตนให้โยนไว้แล้วยกขึ้นสู่เตียงน้อยแสดงแก่พระราชา  แล้วเที่ยวโฆษณาโทษของพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ในพระนครทั้งสิ้นว่า  ท่านผู้เจริญ  ท่านทั้งหลายจงเห็นการกระทำของพระสมณโคดมและของพวกสาวก.  แล้ววางนางสุนทรีไว้บนแคร่ในป่าช้าผีดิบ.  พระราชารับสั่งว่า  ท่านทั้งหลายจงค้นหาคนฆ่านางสุนทรี.ครั้งนั้น  พวกนักเลงดื่มสุราแล้วทำการทะเลาะกันว่า  เจ้าฆ่านางสุนทรี  เจ้าฆ่า.  ราชบุรุษทั้งหลาย  จึงจับพวกนักเลงเหล่านั้นแสดงแก่พระราชา  พระราชาตรัสถามว่า  แน่ะพนาย  พวกเจ้าฆ่านางสุนทรีหรือ ?  นักเลงเหล่านั้นกราบทูลว่า  พระเจ้าข้า  ข้าแต่สมมติเทพ.  พระราชาตรัสถามว่า  พวกใครสั่ง ?  นักเลงทูลว่า  พวกเดียรถีย์สั่ง  พระเจ้าข้า.  พระราชาจึงให้นำพวกเดียรถีย์มาแล้วให้จองจำพันธนาการแล้วรับสั่งว่า  แน่ะพนายพวกเจ้าจงไปป่าวร้องว่า  
เราทั้งหลายให้ฆ่านางสุนทรีเองแหละ  โดยความจะให้เป็นโทษแก่พระพุทธเจ้า  พระผู้มีพระภาคเจ้าและสาวกทั้งหลายของพระองค์ไม่ได้เป็นผู้กระทำ.  พวกเดียรถีย์ได้กระทำอย่างนั้นแล้ว.  ชาวพระนครทั้งสิ้นต่างเป็นผู้หมดความสงสัย.  พระราชาทรงให้ฆ่าพวกเดียรถีย์และพวกนักเลงแล้วให้ทิ้งไป. แต่นั้น  ลาภสักการะเจริญพอกพูนแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า  โดยยิ่งกว่าประมาณ.  ด้วยเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
เราเป็นพราหมณ์เรียนจบแล้ว  เป็นผู้อันมหาชนสักการะบูชา  ได้สอนมนต์กะมาณพ  ๕๐๐  คนในป่าใหญ่.    พระฤาษีผู้กล้า  สำเร็จอภิญญา  ๕  มีฤิทธิ์มาก  มาในที่นี้นั้น  และเราได้เห็นพระฤาษีนั้นมาแล้ว  ได้กล่าวตู่ว่าท่านผู้ไม่ประทุษร้าย.แต่นั้น  เราได้บอกกะศิษย์ทั้งหลายว่า  ฤาษีนี้เป็นผู้บริโภคกาม  แม้เมื่อเราบอกอยู่  มาณพทั้งหลายก็พลอยยินดีตาม.แต่นั้น  มาณพทุกคนเที่ยวภิกขาไปทุก ๆ ตระกูล  ก็บอกกล่าวแก่มหาชนว่า  ฤาษีนี้บริโภคกาม.เพราะวิบากของกรรมนั้น  ภิกษุ  ๕๐๐  รูปนี้จึงได้รับการกล่าวตู่ด้วยกันทั้งหมด  เพราะเหตุแห่งนางสุนทรี.
๕. บุพกรรมที่ทำให้ห้อโลหิต
ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์และน้องชายเป็นลูกพ่อเดียวกัน  เมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว พี่น้องทั้งสองนั้น ทำการทะเลาะกัน เพราะอาศัยพวกทาส  จึงได้คิดร้ายกันและกัน  พระโพธิสัตว์กดทับน้องชายไว้ด้วยความที่ตนเป็นผู้มีกำลัง  แล้วกลิ้งหินทับลงเบื้องบนน้องชายนั้น.  เพราะวิบากของกรรมนั้น  พระโพธิสัตว์นั้นได้เสวยทุกข์ในนรกเป็นต้นหลายพันปี  ในอัตภาพหลังสุดนี้ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า.
พระเทวทัตผู้เป็นพระมาตุลาของพระราหุลกุมาร  ในชาติก่อนได้เป็นพ่อค้ากับพระโพธิสัตว์  ในครั้งเป็นพ่อค้าชื่อว่า  เสริพาณิช  พ่อค้าทั้งสองนั้นไปถึงปัฏฏนคาม  บ้านอันตั้งอยู่ใกล้ท่าแห่งหนึ่ง  จึงตกลงกันว่าท่านจงถือเอาถนนสายหนึ่ง  แม้เราก็จะถือเอาถนนสายหนึ่ง  แล้วทั้งสองคนก็เข้าไป.  บรรดาคนทั้งสองนั้น  ในถนนสายที่พระเทวทัตเข้าไปได้มีคน ๒ คนเท่านั้น คือภรรยาของเศรษฐีเก่าคนหนึ่ง หลานสาวคนหนึ่งถาดทองใบใหญ่ของคนทั้งสองนั้น  ถูกสนิมจับ  เป็นของที่เขาวางปนไว้ในระหว่างภาชนะ.  ภรรยาของเศรษฐีเก่านั้นไม่รู้ว่าภาชนะทอง  จึงกล่าวกะท่านเทวทัตนั้นว่า  ท่านจงเอาถาดใบนี้ไปแล้วจงให้เครื่องประดับมา.เทวทัตนั้นจับถาดใบนั้นแล้วเอาเข็มขีดดู   รู้ว่าเป็นถาดทอง  แล้วคิดว่าเราจักให้นิดหน่อยแล้วถือเอา  จึงไปเสีย.
ลำดับนั้น  หลานสาวเห็นพระโพธิสัตว์มายังที่ใกล้ประตู  จึงกล่าวว่าข้าแต่แม่เจ้า  ขอท่านจงให้เครื่องประดับ  กัจฉปุฏะ  แก่ดิฉัน.  ภรรยาเศรษฐีเท่านั้นจึงให้เรียกพระโพธิสัตว์นั้นมา  ให้นั่งลงแล้วจึงให้ภาชนะนั้นแล้วจึงกล่าวว่า ท่านจงถือเอาภาชนะนี้แล้วจงให้เครื่องประดับกัจฉปุฏะแก่หลานสาวของข้าพเจ้า.  พระโพธิสัตว์จับภาชนะนั้น  รู้ว่าเป็นภาชนะทอง  และรู้ว่า  นางถูกเทวทัตนั้นลวง  จึงเก็บ  ๘  กหาปณะไว้ในถุงเพื่อตน  และให้สินค้าที่เหลือ  ให้ประดับเครื่องประดับ  กัจฉปุฏะ  ที่มือของนางกุมาริกาแล้วก็ไป.  พ่อค้านั้นหวนกลับมาถามอีก.  ภรรยาเศรษฐีนั้นกล่าวว่า  นี่แน่ะพ่อ  ท่านไม่เอา  บุตรของเราให้สิ่งนี้ ๆ แล้วถือเอาถาดใบนั้นไปเสียแล้ว.  พ่อค้านั้นพอได้ฟังดังนั้น  มีหทัยเหมือนจะแตกออก  จึงวิ่งติดตามไป.  พระโพธิสัตว์ขึ้นเรือแล่นไปแล้ว.  พ่อค้านั้นกล่าวว่า  หยุด !อย่าหนี  อย่าหนี  แล้วได้ทำความปรารถนาว่า  เราพึงสามารถทำให้มันฉิบหายในภพที่เกิดแล้ว ๆ.
ด้วยอำนาจความปรารถนา  พ่อค้านั้นเบียดเบียนกันและกันหลายแสนชาติ  ในอัตภาพนี้  บังเกิดในสักย ตระกูล  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ  แล้วประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์โดยลำดับ  ได้ไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น  แล้วบวช  เป็นผู้ได้ฌานปรากฏแล้ว  ทูลขอพรพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ภิกษุสงฆ์ทั้งปวง  จงสมาทานธุดงค์  ๑๓  มีเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรเป็นต้น  ภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นจงเป็นภาระของข้าพระองค์.
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต  พระเทวทันผูกเวร  จึงเสื่อมจากฌาน ต้องการจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคเจ้า  วันหนึ่ง  ยืนอยู่เบื้องบนพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับยืนอยู่ที่เชิงเขาเวภาระ (ที่อื่นเป็น  เขาคิชฌกูฏ) กลิ้งยอดเขาลงมา  ด้วยอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ยอดเขายอดอื่นรับเอายอดเขานั้นที่กำลังตกลงมา.  สะเก็ดหินที่ตั้งขึ้นเพราะยอดเขาเหล่านั้นกระทบกัน  ปลิวมากระทบหลังพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า. 
ด้วยเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อชาติก่อน  เราฆ่าน้องชายต่างมารดา  เพราะเหตุแห่งทรัพย์  เราใส่ลงในซอกหิน  และบดขยี้ด้วยหินเพราะวิบากของกรรมนั้น  พระเทวทัตจึงกลิ้งหิน  ก้อนหินบดขยี้นิ้วหัวแม่เท้าของเรา.
๖. บุพกรรมที่ทำให้นายขมังธนูพยามฆ่า
ได้ยินว่า  ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลหนึ่ง  ในเวลาเป็นเด็ก  กำลังเล่นอยู่ที่ถนนใหญ่  เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในถนนคิดว่า  สมณะโล้นนี้จะไปไหน  จึงถือเอาสะเก็ดหินขว้างไปที่หลังเท้าของท่าน.  หนังหลังเท้าขาด  โลหิตไหลออก.  เพราะกรรมอันลามกนั้น  พระโพธิสัตว์นั้นได้เสวยทุกข์อย่างมหันต์ในนรกหลายพันปี  แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ได้เกิดการห้อพระโลหิตขึ้น  เพราะสะเก็ดหินกระทบที่หลังพระบาท  ด้วยอำนาจกรรมเก่า.  ด้วยเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้า  จึงตรัสว่าในกาลก่อน  เราเป็นเด็กเล่นอยู่ที่หนทางใหญ่  เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในหนทาง  จึงขว้างสะเก็ดหินใส่.เพราะวิบากของกรรมนั้น  ในภพหลังสุดนี้  พระเทวทัตจึงประกอบนายขมังธนูเพื่อฆ่าเรา.
๗. บุพกรรมที่ทำให้ถูกช้างนาฬาคิรีทำร้าย
ช้างธนปาลกะที่เขาส่งไปเพื่อต้องการให้ฆ่า  ชื่อว่า  ช้างนาฬาคิรี.
ได้ยินว่า  ในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นคนเลี้ยงช้าง ขึ้นช้างเที่ยวไปอยู่  เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในหนทางใหญ่  คิดว่า  คนหัวโล้นมาจากไหน  เป็นผู้มีจิตถูกโทสะกระทบแล้ว  เกิดเป็น
ดุจตะปูตรึงใจ  ได้ทำช้างให้ขัดเคือง. 
ด้วยกรรมนั้น  พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยทุกข์ในอบายหลายพันปี  ในอัตภาพหลังสุดได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า.  พระเทวทัตกระทำพระอชาตศัตรูให้เป็นสหายแล้วให้สัญญากันว่า  มหาบพิตรพระองค์ปลงพระชนม์พระบิดาแล้วจงเป็นพระราชา  อาตมภาพฆ่าพระพุทธเจ้าแล้วจักเป็นพระพุทธเจ้าดังนี้  
อยู่มาวันหนึ่ง  ไปยังโรงช้างตามที่พระราชาทรงอนุญาต แล้วสั่งคนเลี้ยงช้างว่า  พรุ่งนี้ ท่านจงให้ช้างนาฬาคิรีดื่มเหล้า ๑๖ หม้อ  แล้วจงปล่อยไปในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต.  พระนครทั้งสิ้นได้มีเสียงเอิกเกริกมากมาย.  ชนทั้งหลายกล่าวกันว่า เราจักดูการต่อยุทธ์ของนาคคือช้าง  กับนาคคือพระพุทธเจ้า  ดังนี้แล้วพากันผูกเตียงและเตียงซ้อน  ในถนนหลวง  จากด้านทั้งสอง แล้วประชุมกันแต่เช้าตรู่.ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระแล้ว  อันหมู่ภิกษุห้อมล้อมเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์. 
ขณะนั้น  พวกคนเลี้ยงช้างปล่อยช้างนาฬาคิรี  โดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.  ช้างนาฬาคิรีทำลายถนนและทางสี่แพร่งเป็นต้นเดินมา  ครั้งนั้น  หญิงผู้หนึ่งพาเด็กเดินข้ามถนน  ช้างเห็นหญิงนั้นจึงไล่ติดตาม.  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  นี่แน่ะนาฬาคิรี  เธอถูกเขาส่งมาเพื่อจะฆ่าหญิงนั้นก็หามิได้  เธอจงมาทางนี้.ช้างนั้นได้ฟังเสียงนั้นแล้ว  ก็วิ่งบ่ายหน้ามุ่งไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแผ่เมตตาอันควรแก่การแผ่ในจักรวาล  อันหาประมาณมิได้  ในสัตว์อันหาที่สุดมิได้  ไปในช้างนาฬาคิรีตัวเดียวเท่านั้น. ช้างนาฬาคิรีนั้นอันพระเมตตาของพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกต้องแล้ว  กลายเป็นช้างที่ไม่มีภัย  หมอบลงแทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้า.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางพระหัตถ์ลงบนกระหม่อมของช้างนาฬาคิรีนั้น. 
ครั้งนั้นเทวดาและพรหมเป็นต้นเกิดจิตอัศจรรย์ไม่เคยเป็น จึงพากันบูชาด้วยดอกไม้และเกสรดอกไม้เป็นต้น  ในพระนครทั้งสิ้น  ได้มีกองทรัพย์ประมาณถึงเข่า.  พระราชารับสั่งให้เที่ยวตีกลองป่าวร้อง ทรัพย์ที่ประตูด้านทิศตะวันตกจงเป็นของชาวพระนคร  ทรัพย์ที่ประตูด้านทิศตะวันออกจงนำเข้าท้องพระคลังหลวง.  คนทั้งปวงกระทำอย่างนั้นแล้ว. ในครั้งนั้นช้างนาฬาคิรีได้มีชื่อว่า  ธนบาล.พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปยังพระเวฬุวนาราม.  ด้วยเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าในกาลก่อน  เราได้เป็นนายควาญช้าง  ได้ทำช้างให้โกรธ
พระปัจเจกมีนีผู้สูงสุด  ผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่นั้น.เพราะวิบากกรรมนั้น  ช้างนาฬาคิรีตัวดุร้ายหมุนเข้ามาประจัญในบุรีอันประเสริฐ  ชื่อว่า  คิริพพชะ  คือกรุงราชคฤห์.
๘. บุพกรรมที่ทำให้ถูกผ่าตัดด้วยศาสตรา
การผ่าฝีด้วยศาสตรา  คือ  ตัดด้วยผึ่ง  ด้วยศาสตรา  ชื่อว่า  สัตถัจเฉทะ. 
ได้ยินว่า  ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์ได้เป็นพระราชาในปัจจันตประเทศ   พระโพธิสัตว์นั้นเป็นนักเลง  ด้วยอำนาจการคลุกคลีกับคนชั่วและด้วยอำนาจการอยู่ในปัจจันตประเทศ  เป็นคนหยาบช้า 
อยู่มาวันหนึ่ง ถือมีดเดินเท้าเปล่า  เที่ยวไปในเมือง  ได้เอามีดฆ่าฟันคนผู้ไม่มีความผิดได้ไปแล้ว.  ด้วยวิบากของกรรมอันลามกนั้น  พระโพธิสัตว์นั้นไหม้ในนรกหลายพันปี  เสวยทุกข์ในทุคติ  มีสัตว์เดียรัจฉานเป็นต้น  ด้วยวิบากที่เหลือ  ในอัตภาพหลังสุดแม้ได้เป็นพระพุทธเจ้า  หนังก็ได้เกิดห้อพระโลหิตขึ้น  เพราะก้อนหินที่พระเทวทัตกลิ้งใส่กระทบเอา  โดยนัยดังกล่าวในหนหลัง.  หมอชีวกผ่าหนังที่บวมขึ้นนั้นด้วยจิตเมตตา.  การทำพระโลหิตให้ห้อขึ้นของพระเทวทัตผู้มีจิตเป็นข้าศึก  ได้เป็นอนันตริยกรรม.การผ่าหนังที่บวมขึ้นของหมอชีวกผู้มีจิตเมตตา  ได้เป็นบุญอย่างเดียว.  ด้วยเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเราเป็นคนเดินเท้า  ฆ่าคนทั้งหลายด้วยหอก  ด้วยวิบากของกรรมนั้น  เราถูกไฟไหม้อยู่ในนรกอย่างรุนแรง.ด้วยเศษของกรรมนั้น  มาบัดนี้เขาจึงตัดหนังที่เท้าของเราเสียสิ้น  เพราะยังไม่หมดกรรม.
๙. กรรมที่ทำให้ปวดศีรษะ
อาพาธที่ศีรษะ  คือเวทนาที่ศีรษะ  ชื่อว่า  สีสทุกขะ  ทุกข์ที่ศีรษะ.ได้ยินว่า  ในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นชาวประมง  ในหมู่บ้านชาวประมง.  วันหนึ่ง  พระโพธิสัตว์นั้นกับพวกบุรุษชาวประมง  ไปยังที่ที่ฆ่าปลา  เห็นปลาทั้งหลายตาย  ได้ทำโสมนัสให้เกิดขึ้นในข้อที่ปลาตายนั้น  แม้บุรุษชาวประมงที่ไปด้วยกัน  ก็ทำความโสมนัสให้เกิดขึ้นอย่างนั้นเหมือนกัน.  ด้วยอกุศลกรรมนั้น  พระโพธิสัตว์ได้เสวยทุกข์ในอบายทั้ง  ๔ ในอัตภาพหลังสุดนี้  ได้บังเกิดในตระกูลศากยราช  พร้อมกับบุรุษเหล่านั้น  แม้จะได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าโดยลำดับแล้ว  ก็ยังได้เสวยความเจ็บป่วยที่ศีรษะด้วยตนเอง  และเจ้าศากยะเหล่านั้น  ถึงความพินาศกันหมดในสงครามของเจ้าวิฑูฑภะ  โดยนัยดังกล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบท.  ด้วยเหตุนั้น  ท่านจึงกล่าวว่าเราเป็นลูกชาวประมงในหมู่บ้านชาวประมง  เห็นปลาทั้งหลายถูกฆ่า  ได้ยังความโสมนัสดีใจให้เกิดขึ้น.เพราะวิบากของกรรมนั้น  ความทุกข์ที่ศีรษะได้มีแก่เราแล้ว  ในคราวที่เจ้าวิฑูฑภะฆ่าสัตว์ทั้งหมด  (คือเจ้าศากยะ)แล้ว.
๑๐. กรรมที่ทำให้เสวยข้าวแดง
การกินข้าวสารแห่งข้าวแดงใสเมืองเวสาลี  ชื่อว่า  ยวขาทนะ  การกินข้าวแดง.  ได้ยินว่า  ในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลหนึ่ง  เพราะอำนาจชาติและเพราะความเป็นอันธพาล  เห็นสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าผุสสะ  ฉันข้าวน้ำอันอร่อย  และโภชนะแห่งข้าวสาลีเป็นต้น  จึงด่าว่า 
เฮ้ย !  พวกสมณะโล้น  พวกท่านจงกินข้าวแดงเถอะอย่ากินโภชนะแห่งข้าวสาลีเลย.  เพราะวิบากแห่งอกุศลกรรมนั้น  พระโพธิสัตว์จึงเสวยทุกข์อยู่ในอบายทั้ง  ๔  หลายพันปี  ในอัตตภาพหลังสุดนี้ ถึงความเป็นพระพุทธเจ้าโดยลำดับ  เมื่อทรงกระทำความอนุเคราะห์ชาวโลก  เสด็จเที่ยวไปในคาม นิคม  และราชธานีทั้งหลาย. สมัยหนึ่ง  เสด็จถึงโคนไม้สะเดาอันสมบูรณ์ด้วยกิ่งและค่าคบ  ณ  ที่ใกล้เวรัญชพราหมณคาม.  เวรัญชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  เมื่อไม่อาจเอาชนะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โดยเหตุหลายประการ  จึงเป็นพระโสดาบันแล้วกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  การเสด็จเข้าจำพรรษาในที่นี้แหละย่อมควร.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับคำนิมนต์โดยดุษณีภาพ.
ครั้นจำเดิมแต่วันรุ่งขึ้นไป  มารผู้มีบาปได้กระทำการดลใจชาวบ้านเวรัญชพราหมณ์คามทั้งสิ้น  ไม่ได้มีแม้แต่คนเดียวผู้จะถวายภิกษาสักทัพพีหนึ่ง  แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสด็จเข้าไปบิณฑบาต  เพราะเนื่องด้วยมารดลใจ.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีบาตรเปล่า  อันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมเสด็จกลับมา. 
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเสด็จกลับมาอย่างนั้น  พวกพ่อค้าม้าที่อยู่ในที่นั้นนั่นแหละ  ได้ถวายทานในวันนั้น  จำเดิมแต่วันนั้นไป ได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุ  ๕๐๐  เป็นบริวาร  แล้วทำการแบ่งจากอาหารของม้า  ๕๐๐  ตัว  เอามาซ้อมเป็นข้าวแดง  แล้วใส่ลงในบาตรของภิกษุทั้งหลาย.  เทวดาในพ้นจักรวาลแห่งจักรวาลทั้งสิ้น  พากันใส่ทิพโอชะเหมือนในวันที่นางสุชาดาหุงข้าวปายาส. 
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยแล้ว พระองค์เสวยข้าวแดงตลอดไตรมาส  ด้วยประการอย่างนี้  เมื่อล่วงไป  ๓ เดือน  การดลใจของมารก็หายไปในวันปวารณา  เวรัญชพราหมณ์ระลึกขึ้นได้ถึงความสลดใจอย่างใหญ่หลวง  จึงถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์  มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน  ถวายบังคมแล้วขอให้ทรงอดโทษ  ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า  เราได้บริภาษพระสาวกทั้งหลาย  ในศาสนาของพระพุทธเจ้า  พระนามว่า  ผุสสะ  ว่า  พวกท่านจงเคี้ยว  จงกินแต่ข้าวแดง  อย่ากินข้าวสาลีเลยด้วยวิบากของกรรมนั้น  เราจึงได้เคี้ยวกินข้าวแดงตลอดไตรมาส  เพราะว่า  ในคราวนั้น  เราอันพราหมณ์นิมนต์แล้วจึงได้อยู่ในบ้านเวรัญชา
๑๑. บุพกรรมที่ทำให้ปวดหลัง
ได้ยินว่า  ในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลคหบดี  สมบูรณ์ด้วยกำลัง  ได้เป็นคนค่อนข้างเตี้ย. 
สมัยนั้น  นักต่อสู้ด้วยการต่อสู้ด้วยมวยปล้ำคนหนึ่ง  เมื่อการต่อสู้ด้วยมวยปล้ำกำลังดำเนินไปอยู่ในคามนิคม  และราชธานีทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้น  ได้ทำพวกบุรุษล้มลง  ได้รับชัยชนะ  มาถึงเมืองอันเป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์เข้าโดยลำดับ  ได้ทำพวกคนในเมืองแม้นั้นให้ล้มลงแล้ว  เริ่มจะไป.  คราวนั้น  พระโพธิสัตว์คิดว่า 
ผู้นี้ได้รับชัยชนะในที่เป็นที่อยู่ของเราแล้วก็จะไป  จึงมายังบริเวณพระนครในที่นั้น  ปรบมือแล้วกล่าวว่า  ท่านจงมา  จงต่อสู้กับเราแล้วค่อยไป.  นักมวยปล้ำนั้นหัวเราะแล้วคิดว่า  พวกบุรุษใหญ่โตเรายังทำให้ล้มได้  บุรุษผู้นี้เป็นคนเตี้ยมีธาตุเป็นคนเตี้ย  ย่อมไม่เพียงพอแม้แก่มือข้างเดียว  จึงปรบมือบันลือแล้วเดินมา. 
คนทั้งสองนั้นจับมือกันและกัน  พระโพธิสัตว์ยกนักมวยปล้ำคนนั้นขึ้นแล้วหมุนในอากาศ  เมื่อจะให้ตกลงบนภาคพื้น  ได้ทำลายกระดูกไหล่แล้วให้ล้มลง.  ชาวพระนครทั้งสิ้นทำการโห่ร้อง  ปรบมือบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยผ้าและอาภรณ์เป็นต้น.  พระโพธิสัตว์ให้นักต่อสู้ด้วยมวยปล้ำนั้นตรง ๆ กระทำกระดูกไหล่ให้ตรงแล้วกล่าวว่า  ท่านจงไปตั้งแต่นี้ไปท่านจงอย่ากระทำกรรมเห็นปานนี้  แล้วส่งไป.  ด้วยวิบากของกรรมนั้น  พระโพธิสัตว์ได้เสวยทุกข์ที่ร่างกายและศีรษะเป็นต้น  ในภพที่เกิดแล้ว ๆ ในอัตภาพหลังสุด  แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ได้เสวยทุกข์มีการเสียดแทงที่หลังเป็นต้น.  เพราะฉะนั้น  เมื่อความทุกข์ที่เบื้องพระปฤษฎางค์เกิดขึ้นในกาลบางคราว  พระองค์จึงตรัสกะพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะว่า จำเดิมแต่นี้ไป  พวกเธอจงแสดงธรรม  แล้วพระองค์ทรงลาดสุคตจีวรแล้วบรรทม.  ขึ้นชื่อว่ากรรมเก่า  แม้พระพุทธเจ้าก็หนีไม่พ้นไปได้.  สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่าเมื่อการปล้ำกันดำเนินไปอยู่  เราได้เบียดเบียนบุตรนักมวยปล้ำ  (ให้ลำบาก)  ด้วยวิบากของกรรมนั้น  ความทุกข์ที่หลัง  (ปวดหลัง)จึงได้มีแก่เรา. ๑๒. บุพกรรมที่ทำให้ถ่ายด้วยการลงพระโลหิต
การถ่ายด้วยการลงพระโลหิต  ชื่อว่า  อติสาระ  โรคบิด. 
ได้ยินว่าในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลคหบดี  เลี้ยงชีพด้วยเวชกรรม.  พระโพธิสัตว์นั้น  เมื่อจะเยียวยาบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งผู้ถูกโรคครอบงำจึงปรุงยาแล้วเยียวยา  อาศัยความประมาทในการให้ไทยธรรมของบุตรเศรษฐีนั้น  จึงให้โอสถอีกขนานหนึ่ง  ได้กระทำการถ่ายโดยการสำรอกออก  เศรษฐีได้ให้ทรัพย์เป็นอันมาก.  ด้วยวิบากของกรรมนั้น  พระโพธิสัตว์จึงได้ถูกอาพาธด้วยโรคลงโลหิตครอบงำในภพที่เกิดแล้ว ๆ ในอัตภาพหลังสุดแม้นี้  ในปรินิพพานสมัย  จึงได้มีการถ่ายด้วยการลงพระโลหิต  ในขณะที่เสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะกัมมารบุตรปรุงถวาย  พร้อมกับพระกระยาหารอันมีทิพโอชะที่เทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นใส่ลงไว้.  กำลังช้างแสนโกฏิเชือก  ได้ถึงความสิ้นไป. 
ในวันเพ็ญเดือน  ๖  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินไปเพื่อต้องการปรินิพพานในเมืองกุสินารา  ประทับนั่งในที่หลายแห่ง ระหายน้ำ ทรงดื่มน้ำ  ทรงถึงเมืองกุสินาราด้วยความลำบากอย่างมหันต์  แล้วเสด็จปรินิพพานในเวลาปัจจุบันสมัยใกล้รุ่ง.   แม้พระผู้เป็นเจ้าของใครโลกเห็นปานนี้  กรรมเก่าก็ไม่ละเว้น.  ด้วยเหตุนั้น  ท่านจึงกล่าวว่าเราเป็นหมอรักษาโรค  ได้ถ่ายยาบุตรของเศรษฐี   ด้วยวิบากของกรรมนั้น  โรคปักขันทิกาพาธจึงมีแก่เรา.
๑๓. บุพกรรมที่ทำให้กระหายน้ำ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่าในกาลก่อน เราเป็นนายโคบาล ต้อนโคไปเลี้ยง เห็นแม่โคกำลังดื่มน้ำขุ่นมัว จึงห้ามมัน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ (แม้) เราจะกระหายน้ำ ก็ไม่ได้ดื่มน้ำตามความปรารถนา ความว่าหลังจากพระผู้มีพระภาคทรงพระปรีชาเสวย  ภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ทรงพระประชวรอย่างหนัก ใกล้จะนิพพาน ได้ตรัสว่าเราจะไปยังเมืองกุสินารา ดังนี้ ฯ 
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะจากหนทาง แล้วเสด็จเข้าไป   ยังโคนไม้ต้นหนึ่ง รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิ ซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราเหน็ดเหนื่อยนัก จักนั่ง ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสแล้ว ปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่พระอานนท์ปูถวายแล้ว
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว จึงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ   เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อย ถูกล้อเกวียนบดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำกกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใสจืด เย็น ขาว  มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ และจักทรง   สรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า   ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำดื่ม มาให้เรา เราระหาย จัดดื่มน้ำ  แม้ครั้งที่สองท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ  ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อยถูกล้อเกวียนบดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ ...แม้ครั้งที่สาม  พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค  แล้วถือบาตรไปยังแม่น้ำนั้น
ครั้งนั้น แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อท่านพระอานนท์เข้าไปใกล้ก็ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัวไหลไปอยู่   ท่านพระอานนท์ ได้มีความดำริว่า น่าอัศจรรย์หนอเหตุไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว ความที่พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก แม่น้ำนี้ถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อเราเข้าไปใกล้กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ ฯขอพระผู้มีพระภาค  จงเสวยน้ำเถิด ขอพระสุคตจงเสวยน้ำเถิด ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยน้ำแล้ว ฯ   (ขุ.อป. ๓๒/๓๙๒;  อป. อ. ๘/๑/๒๑๓-๒๓๖;  ที.ม. ๑๐/๑๑๘-๑๑๙ ,  ขุทฺทก.อ. ๑/๖/๗๕-๗๙)
               จากบุพกรรมของพระพุทธองค์ที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่า พระองค์เป็นศาสดาเอกของโลก เป็นพระอรหันต์หมดกิเลสแล้วอย่างสิ้นเชิง ก็ยังเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ทำอย่างไร ได้อย่างนั้น เหมือนที่พระองค์ตรัสว่า
ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
แปลว่า บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น
ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว
แล้วเราท่านทั้งหลายที่ยังมีกิเลส และยังทำกรรมดีกรรมชั่วต่าง ๆ นานาๆ จะหนีกฎแห่งกรรมพ้นได้อย่างไร (หนีไม่พ้น) ยังมีคนส่วนหนึ่งที่นิยมการสะเดาะเคราะห์ก็ดีหรือวิธีการแก้กรรมก็ดี เอาเฉพาะที่ทำกันผิด ๆ (หลงงมงาย) ก็ลองเอาบุพกรรมของพระพุทธองค์ไปเทียบเคียงดูก็แล้วกัน จะทำให้เป็นคนที่มีเหตุผลมีปัญญาเพิ่มขึ้น ถ้าถามว่า แล้ววิธีแก้กรรมที่ถูกต้องควรทำอย่างไร? ก็ขอตอบว่า ควรหยุดทำกรรมชั่วทุกชนิดตั้งแต่วันนี้ แล้วหันมาทำความดีด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรือรักษาศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา เสียตั้งแต่วันนี้ อุปมาเหมือนกับการเอาน้ำสะอาดมาไล่น้ำเสีย หรือเอาน้ำสะอาดมาล้างสิ่งสกปรกฉันนั้น ใจของเราก็จะสะอาดบริสุทธิ์ตามเหตุแห่งการกระทำนั้นไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะผ่อนหนักเป็นเบา และคงไม่สามารถที่จะแก้ได้ด้วยการสวดสะเดาะเคราะห์ หรือถวายสังฆทานเพียงครั้งสองครั้ง เหมือนที่หลายคนทำกันอยู่ แต่ต้องทำกันทั้งชีวิต ขอแนะนำโดยเฉพาะผู้ที่พอจะสละเวลาได้ ควรจะหาสถานที่ไปเข้าคอร์สปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่หลายที่ ถ้าไม่รู้ว่าไปที่ไหนดี ลองหาในอินเตอร์เน็ต แล้วลองไปปฏิบัติดู ก็จะเป็นวิธีการแก้กรรมที่ดีที่สุด ธรรมสวัสดี