ว้นพ่อแห่งชาติ
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระโอรสองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออร์เบินณ์ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมพ.ศ. 2475 พระองค์ทรงมีพระเชษฐาธิราช (พี่ชาย) และพระเชษฐภคินี (พี่สาว) 2 พระองค์คือ
1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
2. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงขึ้นครองราชเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงค์สิกิติ์ กิติยากร (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนารถ) ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 4 พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร
๓. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
๔. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
พระราชกรณียกิจของพระองค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคตลอดปี โดยได้เสด็จประทับแรมที่พระตำหนัก ตามภาคต่าง ๆ เพื่อจะได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชน และหาทางแก้ไขต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทำให้เกิดโครงการ เช่น โครงการพัฒนาที่ดินทำกินเพื่อให้ราษฎรมีที่ทำมาหากิน โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ การทำฝนเทียมเพื่อแก้ปัญหาฝนแล้ง การประมง การเลี้ยงสัตว์ การตั้งสหกรณ์ เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเยี่ยมทหาร ตำรวจและอาสาสมัครในจังหวัดต่าง ๆ ตลอดจนเขตที่มีภัย อันตราย รวมทั้งผู้บาดเจ็บจากการป้องกันประเทศตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดนอกจากนั้นยังทรงโปรดให้มีหน่วยแพทย์พระราชทาน เพื่อให้การรักษาพยาบาลราษฎรในชนบท เช่นตรวจสุขภาพ ปลูกฝี ฉีดยาเป็นต้นถ้าราษฎรคนใดเจ็บป่วยเรื้อรังก็ทรงรับเป็นคนไข้ส่วนพระองค์ ส่งมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ ทรงโปรดให้มีการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาในยามที่ราษฎรได้รับความทุกข์ยากจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ วาตภัย หรือจากผู้ก่อการร้ายโดยพระองค์ทรงพระราชทานแนวทางแก้ไข รวมถึงเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อาหาร ตลอดจนที่อยู่อาศัยแก่ราษฎรที่เดือดร้อนอีกด้วย อีกทั้งยังทรงส่งเสริมการศึกษา โดยได้ทรงพระราชทาน ทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งกองทุน “ภูมิพล” พระราชทานแก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนดีทรงริเริ่มให้จัดทำสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชนขึ้น เพื่อให้เด็กแต่ละวัยสามารถค้นคว้าได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนินไปพระราช ทานปริญญาบัตรที่จบการศึกษาในมหาลัยต่าง ๆ ด้วย ทรงอุปถัมภ์และบำรุงศาสนาทุกศาสนา ทรงทะนุบำรุงวัดวา อารามต่าง ๆ พร้อมทั้งเสด็จขึ้นบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนาอยู่เสมอด้วย พระราชกรณียกิจที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์แก่ราษฎรทั้งสิ้น ดังนั้นในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุก ๆ ปี สถานที่ราชการโรงเรียนและบริษัทต่าง ๆ จะหยุด 1 วัน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ความเป็นมาของวันพ่อแห่งชาติ
วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุตนายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม หลักการและ เหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อ เนื่องจากพ่อ เป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อ ครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนและตอบ แทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ อีกทั้งยังทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและ พระราชธิดาที่ทรงรักใคร่ห่วงใย ตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน และพระเจ้าหลานเธอทุก ๆ พระองค์ต่างซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระ เมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้ในการนี้คณะกรรมการได้จัดกิจกรรมประกาศเกียรติคุณ พ่อตัวอย่าง หรือพ่อดีเด่น โดยกำหนดคุณสมบัติ คือมีอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ส่งเสริมการศึกษาของบุตรธิดา นับถือศาสนาโดยเคร่งครัด งดเว้นอบายมุขทุกชนิด อุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน และมีภรรยาเพียงคนเดียว และได้แนะนำกิจกรรมสำหรับลูกในวันพ่อ คือ ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ หรือบำเพ็ญกุศล ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศล และระลึกถึงพระคุณของพ่อ ซึ่งยังดำเนินการสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันวันที่ ๕ ธันวาคมนอกจากจะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังถือว่าว่าวันนี้เป็น“วันชาติของไทย” อีกด้วย
วัตถุประสงค์ของวันพ่อแห่งชาติ
วัตถุประสงค์ของการจัด วันพ่อแห่งชาติ ที่คณะผู้ริเริ่มกำหนดคือเพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคมเพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อเพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
กิจกรรมในวันพ่อ
กิจกรรมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในทุก ๆ ปี จะมีการประดับธงชาติในทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน บริษัท บ้านเรือนเพื่อถวายพระพรให้พระองค์ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน และยังมีการทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง ถนน โรงพยาบาล และประดับรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้ที่หน้าบริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ
วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพ่อแห่งชาติ กำหนดขึ้นครั้งแรก ในปี 2523 และ กำหนดให้ ดอกพุทธรักษาสีเหลือง เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อ“พุทธรักษา” ซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครอง ให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ซึ่งมีเรียกกันมากว่า 200 ปี และสีเหลืองอันเป็นสีประจำวัน พระราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปวงชนชาวไทย การมอบดอกพุทธรักษาให้กับพ่อ จึงเสมือนกับการบอกถึง ความรักและเคารพบูชาพ่อ ผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัวคนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้ประจำบ้านจะช่วยปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้มีเหตุร้ายหรืออันตรายเกิดแก่บ้านและผู้อาศัย เพราะพุทธรักษาเป็นพรรณไม้ที่เชื่อกันว่า มีพระเจ้าคุ้มครองรักษาให้มีความสงบสุข คือเป็นไม้มงคลนามนั่นเอง
วันแม่แห่งชาติ
พระราชประวัติ
สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่บ้านพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ ๑๘๐๘ ถนนพระราหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ขณะนั้น เป็นระยะที่ประเทศเพิ่งเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อนหน้านั้นพระบิดาของพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก มียศเป็นพันเอกหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร
ความหมายของวันแม่
พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำว่า “แม่” ไว้ดังนี้แม่ หมายถึง หญิงในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูก, คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดตน พุทธศาสนา ได้ให้ความหมายของคำว่า “แม่” ซึ่งหมายถึง หญิงที่มีครอบครัวไว้หลายนัย เช่น
๑) แม่ บางทีเรียกว่า มารดา มารดร หมายถึง เป็นใหญ่ เช่น แม่ทัพ แม่น้ำ แม่กอง เป็นต้น อันแสดงถึงความยิ่งใหญ่ภายในกิจการนั้นๆ ในที่นี้มาใช้กับผู้ให้กำเนิดแก่ลูกและหาตัวแทนไม่ได้
– หญิงในฐานะผู้ให้กำเนิดแก่ลูก และหาตัวแทนไม่ได้
– คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดตน
– คนที่เป็นหัวหน้า หรือเป็นนาย โดยไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น แม่ทัพ แม่กอง ฯลฯรวมความแล้ว
“แม่” คือ ผู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน โดยการรับผิดชอบนั้นมีขอบเขตภายในบ้านเรือน
๒) ชนนี หมายถึง ผู้ให้กำเนิดลูก, เป็นที่บังเกิดเกล้าของลูก
๓) ภรรยา หรือภริยา หมายถึง
– เมีย หรือ หญิงผู้เป็นคู่ครองของชาย
– ผู้เลี้ยง หรือผู้ดูแลสมาชิกของครอบครัว
ความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติ
วันแม่แห่งชาติหรือที่คนไทยทั่วไปนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “วันแม่” ทุกคนรับทราบและ ซาบซึ้งกันดี เนื่องจากวันสำคัญนี้ ตรงกับวัน เฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือวันที่ ๑๒ สิงหาคม อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพและถือว่าเป็นวันแม่แห่งชาติด้วยแต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกๆ ปีทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี ประกาศรับรอง เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้รับมอบหมายให้จัดงานวันแม่มาตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดีด้วยประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงาน ให้กว้างออกไปได้ การจัดงานไม่เพียงแต่จัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังจัดให้มีการประกวดแม่ของชาติ ประกวดคำขัวญวันแม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกียรติแก่แม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของงานวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้น ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม(สมัยนั้น) แต่ทั่วไปเรียกกันว่า วันแม่ของชาติ
ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือว่าวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นต้นมา จากหนังสือของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ชื่อแม่หลวงของปวงชน พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ มีข้อความตอนหนึ่งเทิดพรเกียรติไว้ว่า
“แม่ที่ดีย่อมรู้จักส่งเสริมธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เพราะแม่ทราบดีว่าถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว ความเป็นไทยที่แท้จริงจะมิปรากฏอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราแม่ที่ดีย่อมประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามระบอบของการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยรักเคารพและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เหนือสิ่งอื่นใด หญิงไทยทุกคน ย่อมจะมีคุณลักษณะต่างๆ ของแม่ที่ดีดังกล่าวข้างต้นนี้อยู่แล้วจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการศึกษาและการฝึกหัดอบรม แต่จะหาหญิงใดที่มีคุณลักษณะครบถ้วนทุกประการเสมอเหมือน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นั้นไม่ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเทิดทูนพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯ ว่าทรงเป็นแม่หลวงของปวงชน ผู้ทรงเป็นศรีสง่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของบ้านเมืองและของปวงชนชาวไทยทั้งมวล”ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของวันแม่ของชาติตามเหตุผลของทางราชการส่วนที่เกี่ยวกับวันแม่ของไทยตามความรู้สึกนึกคิดทั่วไปของคนไทยผู้เป็นแม่ คำว่า แม่ นี้เป็นคำที่ซาบซึ้ง ไม่มีการกำหนด วัน เวลา แต่มีความหมายลึกซึ้งกินใจของผู้เป็นแม่และลูกมานานแล้ว ดังสำนวนไทยประโยคหนึ่งว่า “แม่ใครมาน้ำตาใครไหล” ซึ่งพระวรเวทย์พิสิฐได้อธิบายไว้ในหนังสือวรรณกรรมเรื่อง “แม่” ว่า “เด็กไทยตามหมู่บ้านในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กมักเล่นกันเป็นหมู่ๆ เด็กคนไหนแม่อยู่บ้าน เวลาเขาเล่นอยู่ในหมู่เพื่อนหน้าตาก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เด็กคนไหนที่แม่ไม่อยู่บ้าน ต่างว่าไปทำมาหากินไกลๆ หรือ ไปธุระที่ไหนนานๆ ก็มีหน้าตาเหงาหงอย ถึงจะเล่นสนุกสนานไปกับเพื่อนในเวลานั้นก็พลอยสนุกไปแกนๆ จนเด็กเพื่อนๆ กันรู้กิริยาอาการ เพราะฉะนั้น พอเด็กๆ เพื่อนๆ แลเห็นแม่เดินกลับมาแต่ไกล ก็พากันร้องขึ้นว่า แม่ใครมาน้ำตาใครไหล แล้วเด็กคนนั้นผละจากเพื่อนเล่นวิ่งไปหาแม่ กอดแม่ น้ำตาไหลพรากๆ ด้วยความปลื้มปิติ แล้วจึงหัวเราะออก ลักษณะอาการที่เด็กแสดงออกมาจากน้ำใจอันแท้จริงอย่างนี้ ย่อมเกิดจากความสนิทสนม ชิดเชื้อมีเยื่อใยต่อกัน แม่ไปไหนจากบ้านก็คิดถึงลูกและลูกก็เปล่าเปลี่ยวใจเมื่อแม่ไม่อยู่บ้าน นี่คือธรรมชาติ ไม่มีใครสร้างสรรค์บันดาล มันเกิดขึ้นเอง”และอีกตอนหนึ่งในหนังสือเล่มเดิมที่อ้างข้างต้นให้ความหมายของคำว่า “แม่” ว่า “เสียงที่เปล่งออกมาจากปาก เป็นคำที่มีความหมายว่า แม่ เป็นเสียงและความหมายที่ลึกซึ้งใจมีรสเมตตาคุณ กรุณาคุณและความรักอยู่ในคำนี้บริบูรณ์ เด็กน้อยที่เหลียวหาแม่ไม่เห็นก็ส่งเสียงตะโกนเรียก แม่ แม่ ถ้าไม่เห็นก็ร้องไห้จ้า ถ้าเห็๋นแม่มาก็หัวเราะได้ทั้งน้ำตา นี่เพราะอะไร เราเดาใจเด็กว่า เมื่อไม่เห็นแม่เด็กต้องรู้สึกใจหายดูเหมือนเขาจะรู้สึกว่าขาดผู้ที่ปกปักรักษาให้ปลอดภัย แต่พอเห็นแม่เข้าเท่านั้นก็อุ่นใจ ไม่กลัวเกรงอะไรทั้งหมดเราที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว เมื่อเอ่ยคำว่าแม่ขึ้นทีไร ก็มักจะรู้สึกเกินออกไปจากความหมายที่เป็นชื่อเท่านั้น ย่อมนึกถึงความสัมพันธ์ที่แม่มีต่อเราเกือบทุกครั้ง แม่รักลูกถนอมลูก หวังดีต่อลูก จะไปไหนจากบ้านก็เป็นห่วงลูก ถึงกับแบ่งของรับประทานนั้นไว้ให้ลูก ลักษณะเหล่านี้ย่อมตรึงใจเรามิวาย”อย่างไรก็ตาม การที่ทางราชการประกาศกำหนดวันที่ ๑๒ สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันแม่แห่งชาติ ย่อมก่อให้เกิดวันอันเป็นที่ระลึกที่สำคัญยิ่งของไทยเราวันหนึ่ง และกำหนดให้ถือว่า ดอกมะลิ สีขาวบริสุทธิ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามของแม่ผู้ให้กำเนิดแก่ตัวเรา
วันครู
ความเป็นมา
ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน; ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ
วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง” จากแนวความคิดนี้ กอปรกับควาคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคมพ.ศ. ๒๕๐๐ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ
การจัดงานวันครู
การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครู จะมีกิจกรรม ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
1. กิจกรรมทางศาสนา
2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือ
การจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น
ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่งประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้
รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาคณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงประคุณบูรพาจารย์
มารยาทและวินัยตามระเบียบ
ประเพณีของครู
1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน
8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหา
ประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงาน
และของสถานศึกษา
10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
บทสวดเคารพครูอาจารย์
(สวดนำ) ปาเจราจริยา โหนติ
(รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา
ปญญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ
ข้าขอประณตน้อมสักการ
บุรพคณาจารย์
ผู้ก่อประโยชน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา
อบรมจริยา
แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์
ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา
อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ
อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี
ประโยชน์ทวี
แก่ชาติและประเทศไทย เทอญฯ
วันไหว้ครู
ความเป็นมาของวันไหว้ครู
วันไหว้ครูประจำปี ซึ่งทุกสถาบันมักจะเลือกเอาช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ๆไปแล้วประมาณสัปดาห์ 3-4 ซึ่งนักเรียนควรทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงจุดประสงค์ของการจัดพิธีไหว้ครู ศึกษาประวัติความเป็นมา เพื่อการเรียนรู้และให้สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณีอันดีงามคนเราทุกคนที่เกิดมาในโลก จะต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิตในวัยเด็กต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจากมารดาบิดา ครั้นเติบโตขึ้นก็รับการศึกษาจากครูอาจารย์ การศึกษาในระยะแรกนี้จะเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตและเป็นรากฐานของการศึกษาในขั้นสูงต่อไป เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนหรือสถาบันต่างๆ แล้ว ก็มิได้หมายความว่าการศึกษาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงเพียงเท่านั้น เรายังจะต้องศึกษาชีวิตและการงานต่าง ๆ ต่อไปอีก ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่โดยอาศัยพื้นฐานความรู้ที่ได้รับจากมารดา บิดาและครูอาจารย์ จึงเป็นบุคคลสำคัญ และเป็นผู้มีอุปการะคุณของเราทุกคนการเคารพเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสอนและยกย่องท่านในฐานะปูชนียบุคคลจึงก่อให้เกิดสิริมงคลและความ เจริญก้าวหน้าในการดำรงชีวิตดังที่มีพระบาลีกล่าวไว้ในมงคลสูตรว่า”ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” แปลว่า”การบูชาผู้ควรบูชา เป็นมงคลอันอุดม”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสสอนไว้ในเรื่องทิศ 6 ว่า ครูคือผู้อนุเคราะห์ศิษย์ด้วยการปฏิบัติ 5 ประการ คือ แนะนำดี ได้แก่ การสอนให้ศิษย์ตั้งตนอยู่ในทำนองคลองธรรม รู้จักเหตุ รู้จักผลรู้จักผิดชอบชั่วดี ให้เรียนดี คือให้ศิษย์ได้รับการศึกษาด้วยดี ไม่มีอุปสรรคขัดข้อง ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ สอนศิลปวิทยา โดยไม่ปิดบังอำพราง คือ สอนหรือให้ความรู้จนเต็มความสามารถของตน ยกย่องศิษย์ที่มีความรู้ความสามารถและมีความประพฤติดีให้ปรากฏ ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย หมายถึง ป้องกันมิให้ศิษย์ประสบความวิบัติตกต่ำในทุก ๆ ด้าน เช่น ป้องกัน มิให้ถูกใส่ร้ายป้องกันมิให้ประพฤติชั่ว ป้องกันมิให้ได้รับอันตราย เป็นต้น บุคคลที่ปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยความประพฤติดังกล่าวอย่างครบถ้วน ย่อมถือได้ว่าเป็นครูอย่างแท้จริง แม้ผู้เป็นครูจะมีความประพฤติปฏิบัติตรงตาม คำสอนของพระบรมศาสดา เพียงข้อใดข้อหนึ่งก็สมควรที่ผู้เป็นศิษย์จะต้องเคารพ ยกย่องและการเคารพยกย่องครูนั้น ต้องเคารพยกย่องโดยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมถือได้ว่า เป็นความเคารพยกย่องที่ไม่งมงายและไม่เกิดโทษดังนั้นผู้เป็นศิษย์พึงแยกบุคคลและสภาพธรรมะหรือความประพฤติออกจากกันเป็นคนละส่วนจึงจะมองเห็นความน่าเคารพในครูอาจารย์ของตนและพึงระลึกได้เสมอว่าเราจะต้องเคารพในความเป็น ครู มิใช่เคารพบุคคลที่เป็นครู จึงจะถูกต้องตรงตามคำสอนของพระบรมศาสดา
ด้วยเหตุที่ครูเป็นบุคคลสำคัญ และพระคุณต่อศิษย์ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น เมื่อจะมีการเรียนการสอนศิลปวิทยาแขนงใด ๆ ก็ตามคนไทยเราซึ่งนับถื่อพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจึงมีการไหว้ครู เป็นการมอบตัวเข้าเป็น ศิษย์ของครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา พิธีไหว้ครูที่ทำกันมาแต่โบราณ นิยมทำกันในวันพฤหัสบดี(คติพราหมณ์ถือว่า พระพฤหัสบดีเป็นครูของเทวดาทั้งหลาย)โดยผู้เป็นศิษย์จะนำเครื่องสักการะ อันประกอบด้วยธูป เทียน ข้าวตอก ดอกมะเขือ และหญ้าแพรก ใส่พานและนำเข้าไปให้ครู แสดงความเคารพ(โดยการกราบ)แล้วส่งเครื่องสักการะให้ ครู และกล่าววาจามอบตนเข้าเป็นศิษย์ของครู (หากเป็นเด็กเล็ก ๆ มารดาบิดาจะเป็นผู้นำไปมอบและกล่าววาจาฝากฝัง บุตรของตนต่อครู) ครูจะรับเครื่องสักการะแล้วแนะนำสั่งสอนเป็นเบื้องต้น พร้อมทั้งให้พรแก่ศิษย์ หลังจากนั้นครูก็เริ่มสอนศิลปวิทยาแก่ศิษย์ต่อไปเป็นลำดับจนศิษย์มีความรู้ สามารถประกอบอาชีพได้ ครูก็จะส่งกลับคืนให้แก่มารดา บิดาเป็นอันว่าสำเร็จการศึกษา ในสมัยโบราณ ในระหว่างรับการศึกษานั้น ศิษย์จะต้องพักอยู่ในบ้านของครูช่วยทำ กิจกรรมงานต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการเรียนส่วนครูก็จะเลี้ยงดูศิษย์ไปด้วย ดังนั้นศิษย์ในสมัยโบราณจึงเคารพนับถือครูเสมอด้วยมารดาบิดาเพราะเหตุที่ท่านให้ความอุปการะเลี้ยงดู ดุจมารดาบิดาผู้ให้กำเนิด
ความหมายของ"การไหว้ครู"
“การไหว้ครู”คือการแสดงถึงความเคารพกตเวทีแด่ท่านบูรพาจารย์ และครูบาอาจารย์ผู้ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า”การไหว้ครู” คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการจึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายปลายทางของการศึกษาตามที่ได้ตั้งใจไว้”การไหว้ครู” คือ การแสดงถึงความสำนึกที่ดีงาม โดยเฉพาะเรามักจะกระทำแก่สิ่งของหรือบุคคลที่มีความสำคัญแทบทั้งสิ้น เช่น นักเรียนประกอบพิธีไหว้ครู ก็เพราะนักเรียนเห็นว่าครูเป็นบุคคลที่สำคัญในชีวิตของเขา คือ เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ และเป็นปูชนียบุคคล ครูอาจารย์จึงเป็นบุคคลที่คู่ควรแก่การไหว้เป็นอย่างยิ่ง
ความสำคัญของการไหว้ครู
ไทยเรามีประเพณีการไหว้ครูมาแต่โบราณ เราไหว้ครูเพราะเราเคารพในความเป็นผู้รู้ และความเป็นผู้มีคุณธรรมของท่าน คุณสมบัติทั้ง 2 ประการของครูต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับคุณธรรมของศิษย์ การเรียนการสอนจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ถ้าจะเปรียบการเรียนการสอนเป็นต้นไม้ คุณธรรมของครูนับตั้งแต่ปัญญา ความเมตตากรุณา และความบริสุทธิ์ใจซึ่งเป็นฐานรองรับให้ต้นไม้คงอยู่ได้ ในขณะเดียวกันคุณธรรมของศิษย์ไม่ว่าจะเป็นความเคารพความอดทน หรือความมีระเบียบวินัยก็เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เจริญเติบโต ออกดอกออกผลอย่างงดงาม
จะเห็นว่าพิธีไหว้ครูแต่โบราณไม่มีพิธีรีตรองมากนักแต่มีความหมายแฝงไว้มากมายคนโบราณ เป็นนักคิดจะทำอะไรก็มักจะผูกเป็นปริศนาที่ลึกซึ้งเอาไว้เสมอในพิธีไหว้ครูก็เช่นเดียวกันเครื่องสักการะที่ใช้ในการไหว้ครูนั้น นอกจากธูป เทียน แล้วยังมีข้าวตอก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม และหญ้าแพรก ซึ่งเป็นของหาง่ายและมีความหมาย ดังจะ กล่าวต่อไปนี้
ข้าวตอก ทำมาจากข้าวเปลือกโดยนำข้าวเปลือกไปแช่น้ำให้นิมแล้วนำไปคั่วด้วยความร้อนจนเม็ดข้าวแตกและ บานออกมีสีขาวบริสุทธิ์มีความหมายว่า ครูย่อมสอนศิษย์ทั้งด้วยวิธีปลอบโยนเปรียบได้กับน้ำที่ทำให้ข้าวเปลือกนิ่ม และวิธีการเคี่ยวเข็ญที่เข้มงวด มีการลงโทษเมื่อศิษย์ ไม่ประพฤติปฏิบัติตามเปรียบได้กับความร้อนที่คั่วข้าวเปลือก ทั้งนี้เพื่อให้ศิษย์ มีความขยันขันแข็งและเอาใจใส่ ในการเล่าเรียนจะได้เป็นผู้มีชีวิตที่สมบูรณ์ปราศจากความประพฤติ ชั่วทั้งปวง เปรียบได้กับสีขาวของข้าวตอกและมีความเจริญเฟื่องฟูในการประกอบสัมมาอาชีพเปรียบได้กับการแตก บาน ของข้าวตอก
ดอกมะเขือ เป็นดอกไม้ชนิดเดียวที่บานแล้วคว่ำดอกลงสู่พื้นดิน ไม่หงายขึ้นรับแสงอาทิตย์เช่นดอกไม้ชนิดอื่น ๆ เป็นเครื่อง สักการะที่เตือนให้ศิษย์ระลึกได้อยู่เสมอว่า ศิษย์จักต้องก้มหน้าและน้อมรับคำสั่งสอนของครูเสมอ การโต้เถียงครูด้วยความโกรธ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
ดอกเข็ม มีลักษณะแหลม มีความหมายว่า ศิษย์จะมีสติปัญญาเฉียบแหลมและฉลาดรอบรู้ได้ก็ด้วยอาศัยครูเป็นผู้ ฝึกฝนเช่นเดียวกับการทำของที่แหลมคม ย่อมต้องมีการฝนหรือลับซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ครูเป็นบุคคลที่มี ความพยายามและอดทนในการให้การฝึกฝนศิษย์ จึงสมควรที่ศิษย์จะต้องบูชาและเคารพยกย่อง
หญ้าแพรก เป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งและการเหยียบย่ำและขยายพันธุ์ได้ดีในพื้นที่ทุกชนิดหญ้าชนิดนี้ จึงมี อยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง แม้ถูกเหยียบย่ำก็ไม่ตาย ได้รับน้ำฝนก็จะแตกใบขยายพันธุ์ขึ้นอีกมีความหมายว่า ศิษย์จะต้อง อดทนต่อการเคี่ยวเข็ญดุว่า เฆี่ยนตีของครูโดยไม่ถือโกรธ ดุจดังหญ้าแพรกที่ถูกเหยียบย่ำ
ฉะนั้น การมีความอดทนต่อ การเคี่ยวเข็ญดุว่า เฆี่ยนตีของครูนั้น จะทำให้ศิษย์เป็นคนมีมานะอดทน รู้จักปรับตัวและแก้ไข ความประพฤติที่บกพร่องให้ดีขึ้นเมื่อเติบโตขึ้นย่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดีในทุกหมู่ชนและทุกสถานที่ดุจดังหญ้าแพรกที่สามารถ เจริญและขยายพันธุ์ได้ในพื้นที่ทุกแห่ง
ในปัจจุบันนี้เราจะสังเกตเห็นว่าเครื่องสักการะที่นักเรียนนำมาไหว้ครูนั้นนับวันจะหมดความหมายลงไปทุกทีนักเรียนมักซื้อดอกไม้ที่สวยงามจากตลาดแทนการใช้เครื่องสักการะที่มีความหมายซึ่งใช้กันมาแต่โบราณและมักไม่ใช้ความสามารถของตนในการจัดพานเครื่องสักการะครูส่วนใหญ่จะจ้างผู้มีฝีมือในทางด้านนี้เป็นผู้จัดให้ข้อนี้อาจเป็นลาง บอกเหตุของความเสื่อมทางการศึกษาก็ได้้ เพราะปัจจุบันนักเรียนมักนิยม ให้ผู้อื่นทำแบบฝึกหัดหรืองานที่จะส่งครู มากกว่าจะพยายามทำด้วยความสามารถของตนเอง การที่นักเรียนใช้ดอกไม้สวยงามอื่น ๆ แทนเครื่องสักการะที่มีความหมายเป็นนิมิตหมายให้เราทราบว่านักเรียนในปัจจุบันมองเห็นว่าความสวยงามมีความสำคัญมากกว่าความดีและความถูกต้องการจ้างคนอื่นให้จัดเครื่องสักการะในการไหว้ครูเป็นนิมิตให้เราทราบว่านักเรียนมิได้ระลึกถึงพระคุณของ ครูด้วยใจจริง แต่การกระทำไปตามประเพณีโดยปราศจากความเข้าใจ
สิริมงคลซึ่งเกิดจาก การปฏิบัติอย่างถูกต้องจึง ไม่เกิดขึ้นแก่นักเรียนความไม่มีศรัทธาในพระคุณของครูทำให้การเรียนรู้ ของ นักเรียนเป็นไปอย่างไม่มีความมั่นใจ การ จดจำและการปฏิบัติตามคำสอนของครูจึงไม่เกิดขึ้นความรู้ความสามารถ ที่พึงมีพึงได้ก็ไม่เกิดขึ้นแก่นักเรียน นอกจากนี้ นักเรียนยังมีความประพฤติต่อครูผิดไปจากธรรมเนียมที่เคยมีมาแต่ก่อน เครื่องสักการะทั้ง 4 อย่างดังกล่าวแล้วย่อม แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนเครื่องสักการะที่ขาดข้าวตอกนั้นเป็นนิมิตว่าในโรงเรียนทั่ว ๆ เริ่มจะขาดการชักจูง และการ เคี่ยวเข็ญลงโทษนักเรียนด้วยพากันเห็นว่าการทำโทษดุว่าเป็นพฤติกรรมที่น่า รังเกียจเป็นการแสดงความไม่เมตตาต่อนักเรียน ดังนั้นส่วนใหญ่ของนักเรียนที่มีความประพฤติบกพร่องจึงไม่ได้รับการแก้ไข เราจึงพบเห็นนักเรียนมีความ ประพฤติเลวทราม และหยาบคายอยู่ทั่วไป ส่วนเครื่องสักการะที่ขาดดอกมะเขือนั้นเป็นนิมิตอย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ใคร่น้อมรับคำสอนของครูด้วยความเคารพ มักจะมีการโต้เถียงและล่วงเกินครูด้วยวาจาไม่สุภาพ หรือบางทีก็ใช้ถ้อยคำรุนแรงหยาบคายต่อครูก็มีไม่น้อย
สำหรับเครื่องสักการะที่ขาดหญ้าแพรกนั้น ก็เป็นนิมิตหมายว่า นักเรียนจะไม่มีความอดทนต่อคำดุว่า และการ ทำโทษของครู และมองเห็นไปว่าครูชิงชัง ริษยา และพยาบาทตนความคิดเช่นนี้ทำให้นักเรียนมีนิสัยมองคนในแง่ร้าย ใครว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่ได้ครั้นเติบโตขึ้นอยู่กับใครก็อยู่ยาก เอาแต่ใจของตน ไม่มีความเห็นใจคนอื่น เป็นเหตุให้ไม่มี ความเจริญก้าวหน้า เพราะคนเราแม้จะเก่งกล้าสามารถและมีความรู้มากมายเพียงใก็ตาม หากไม่มีความ ประพฤติที่ดี งามเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่นที่แวดล้อมเกี่ยวข้องแล้ว ย่อมจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ดังโคลงโลกนิติที่สอนไว้ว่า แม้มีความรู้ดั่ง สัพพัญญู ผิบ่มีคนชู ห่อนขึ้น หัวแหวนค่าเมืองตรูตราโลกทองบ่รองรับพื้น ห่อนแก้วมีศรี ส่วนดอกเข็มนั้น เป็นดอกไม้ที่หาง่ายแม้จะไม่ใคร่ขาดก็ตามนักเรียนก็พึงระลึกอยู่เสมอว่าความฉลาดเฉียบแหลม ของคน เรานั้นมีไว้สำหรับสร้างความเจริญให้แก่ตนเองในทางที่ชอบธรรมมิได้มีไว้ใช้ทิ่มแทงหรือทำลายคนอื่นและการที่จะมีความเฉลียวฉลาดได้นั้น จะต้องเป็นคนช่างจดจำและช่างคิดนึกตรึกตรองพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จึงจะทำให้มีความ รู้เฉลียวฉลาดขึ้นได้
พิธีการไหว้ครูเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และแฝงไว้ด้วยคติธรรมมากมายหลายอย่างจึงควรดำรงรักษาไว้และพยายามศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ อย่าสักแต่ว่าทำไปตามประเพณีต้องทำอย่างเข้าใจในเหตุและผลหากทุกคน (ทั้งครูและ นักเรียน)มีความเข้าใจถูกต้องตรงกันพิธีไหว้ครูที่จัดทำขึ้นจะก่อให้เกิดสามัคคีในหมู่คณะเกิดความมั่นใจในการศึกษา ศิลปวิทยาแขนงต่าง ๆ และส่งผลให้ผู้ปฏิบัติประสบความเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ
นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองในที่สุด
วันเด็กแห่งชาติ
ความหมาย
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า “เด็ก” ไว้ คือ “เด็ก” หมายถึง คนที่มีอายุยังน้อย ยังเล็ก อ่อนวัน เช่น เด็กชาย คือ คำนำเรียกเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ และ เด็กหญิง คือ คำนำเรียกเด็กผู้หญิงที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี บริบูรณ์เด็กนับเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศ เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคง
ดังนั้น เด็กจึงควรที่จะเตรียมตัวที่จะเป็นกำลังของชาติด้วย หากเด็กทุกคนได้ตระหนักถึงอนาคตของตนและของประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการขยันหมั่นศึกษาหาความรู้ และใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัย มีความขยันขันแข็ง ตลอดจนมีความเมตตากรุณา ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่น เสียสละเพื่อส่วนรวมดังนี้แล้ว ก็จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “เด็กดี” ชาติบ้านเมืองก็จะเจริญมีความผาสุกร่มเย็นต่อไป
ประวัติความเป็นมา
นายวี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของเด็กและเพื่อกระตุ้นเตือนให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองงานวันเด็กแห่งชาติในเมืองไทยครั้งแรกนั้น จัดขึ้นในวันจันทร์แรของเดือนตุลาคม พ.ศ 2498 และได้จัดต่อกันมาเป็นประจำทุกปี จนถึง พ.ศ. 2506 จึงมีความคิดว่าควรจะเปลี่ยนไปจัดงานวันเด็กในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงที่พ้นจากฤดูฝนมาแล้วและเป็นวันหยุดราชการทำให้เกิดความสะดวกด้วยประการทั้งปวงในปี พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดในปี พ.ศ. 2508 ซึ่งถือเอาวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เป็นวันเด็กแห่งชาติ มาจนบัดนี้รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลรัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตนเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
กิจกรรม
ข้อเสนอแนะและตัวอย่างกิจกรรมในการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ เช่น การจัดประชุม สัมมนา ในเรื่องบทบาทและหน้าที่ของเด็กที่พึงปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัว หรืออาจจะมีการจัดกิจกรรมพิเศษสำหรับเด็ก มอบของขวัญในโอกาสวันสำคัญนี้ให้แก่เด็ก ๆ ที่มีความประพฤติดี และ กิจกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสม เป็นต้น